สกศ. ร่วมส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงทวิวุฒิ (ไทย-จีน)

image

วันที่ 8 มิถุนายน ๒๕๖๗ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ร่วมเป็นวิทยากรในนำเสนอ “แนวทางการพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง โดยยึดตามระดับสมรรถนะ และการเชื่อมโยงระดับคุณวุฒิตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF)” พร้อมด้วย ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุม ในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงทวิวุฒิ (ไทย-จีน) จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานการประชุม มีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาในจีน จำนวน 13 คน ผู้แทนบริษัทการศึกษานานาชาติถังฟง กรุ๊ป ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและบุคลากรจาก สอศ. และผู้บริหาร/คณาจารย์จากสถานศึกษานำร่องในไทยทั้ง 18 สถานศึกษา เข้าร่วมการประชุมในระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

ในการพัฒนาหลักสูตรทวิวุฒิไทย-จีน โดยศึกษานำร่องใน 19 สาขาอาชีพจากสาขาอาชีพที่เปิดสอนในระดับ ปวส. ทั้งหมด 210 สาขา และภาษาจีน เพื่อนำมาใช้เป็นหลักสูตรกลางที่นำไปใช้ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ 433 แห่ง และเอกชน 444 แห่งในอนาคต โดยในการประชุมวันที่ 8 มิถุนายน 2567 มีผู้แทนบริษัทถังฟง กรุ๊ป ได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือของจีนกับไทยในการพัฒนาหลักสูตรและสื่อ/ช่องทางการเรียนรู้ที่จีนได้ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย สปป.ลาว ปากีสถาน ตามนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง (one belt one road) ที่เป็นนโยบายหลักของจีนในการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ และมีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงศึกษาธิการของจีน นำเสนอข้อกำหนดการสำเร็จการศึกษาของวิทยาลัยอาชีวศึกษาจีน เพื่อฝึกอบรมนักเรียนต่างชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรและเตรียมการสำหรับการขอรับการรับรองหลักสูตรและกำหนดแผนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนของไทยได้รับคุณวุฒิจากสถานศึกษาของจีนควบคู่กับไทย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ดำเนินการปรับแก้ไข (ร่าง) หลักสูตรให้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีวิทยากรประจำกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากจีนร่วมให้ข้อคิดเห็น

การพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวเป็นการยกระดับกำลังคนในระดับการอาชีวศึกษาให้เป็นกำลังคนสมรรถนะสูง และมีสมรรถนะตรงตามระดับคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) โดยมีสถานศึกษานำร่องที่พัฒนาหลักสูตรในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศตามมติ ครม. ทั้ง 8 แห่ง เข้าร่วมประชุม และจัดทำหลักสูตรทวิวุฒิ ระดับ ปวส. ดังนี้

1. วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม (นำร่องสาขาแม่พิมพ์) ร่วมกับวิทยาลัยโพลิเทคนิคเจ้อเจียงตงฟาง พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะ
2. วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (นำร่องสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) ร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างเทคโนโลยีสารสนเทศเซี่ยงไฮ้ พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
3. วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ (นำร่องสาขาพลังงานและพลังงานทดแทน) ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคจิ่วฉวน พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีความร้อนจากแสงอาทิตย์และการประยุกต์ใช้
4. วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี (นำร่องสาขาระบบราง) ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีวศึกษาและเทคนิครถไฟซีอาน พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีการบำรุงรักษาที่ครอบคลุมของรถไฟความเร็วสูง และร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาอุตสาหกรรมเฉิงตู พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานใหม่
5. วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด (นำร่องสาขาปิโตรเคมี) ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาปิโตรเคมีเหลียวหมิง พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีปิโตรเคมี
6. วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี (นำร่องสาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน) ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาอันฮุย พัฒนาหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์สมัยใหม่
7. วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี (นำร่องสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล) ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเศรษฐศาสตร์และธุรกิจกุ้ยโจว พัฒนาหลักสูตรธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และร่วมกับบริษัทการศึกษานานาชาติถังฟง กรุ๊ป พัฒนาหลักสูตรภาษาจีน
8. วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา (นำร่องสาขาอาหาร) ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาการท่องเที่ยวเจียงซู พัฒนาหลักสูตรสาขาโภชนาการอาหารและสุขภาพ

ทั้งนี้ เมื่อหลักสูตรดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์แล้ว สอศ. จะดำเนินการส่งให้รัฐบาลจีนให้การรับรอง ควบคู่กับการเสนอให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาพิจารณาให้การรับรองจึงจะสามารถใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับภารกิจของ สกศ. ในการพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) และจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษาและการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยกับระบบคุณวุฒิแห่งชาติของจีน ตามแผนงานที่ สกศ. จะดำเนินการโครงการประชุมหารือความร่วมมือเพื่อการศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของจีนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด