ธงทองนั่งหัวโต๊ะระดมไอเดียพัฒนา Master Plan วิชาประวัติศาสตร์ ใส่ใจความหลากหลาย เปิดห้องเรียน History ตั้งคำถามได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล

image

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ คณะกรรมการฯ ผู้บริหาร อาจารย์ ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมร่วมพิจารณา “การพัฒนากรอบการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group)” ซึ่งได้มีการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ กลุ่มครู/อาจารย์ กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา กลุ่มศึกษานิเทศก์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้องการจัดทำหลักสูตรและวัดผล และกลุ่มผู้ที่สนใจในวงกว้างได้ร่วมเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ โดยจากผล Focus group พบข้อเสนอที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) หลักสูตร ควรออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัยและมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนในทุกระดับ อาจมีการกำหนดสัดส่วนของเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ โดยผนวกความเป็นท้องถิ่นเข้าไปร่วมด้วย 2) วิธีในการจัดการเรียนการสอน ที่ควรมีความหลากหลาย สอดคล้องกับช่วงวัยและความสนใจของผู้เรียน สอดคล้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางสังคม อาจมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือ AI มาบูรณาการจัดการเรียนรู้ 3) หนังสือเรียน/ตำราเรียน ควรมีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อจัดทำหนังสือที่มีความทันสมัย มีเนื้อหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นท้องถิ่นของชุมชนตนเองอย่างแท้จริง 4) สื่อการเรียนการสอน อาจเป็นการทำงานร่วมกับนักสื่อสาร (Content Creator) เพื่อพัฒนาสื่อด้วยไอเดียที่มีความหลากหลายเหมาะสมกับช่วงวัย เช่น ในระดับประถม ควรจัดทำสื่อที่มีการนำเสนอผ่านภาพ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถจดจำและเข้าใจได้อย่างง่าย 5) การวัดและประเมินผล ควรมีรูปแบบที่หลากหลายเป็นไปตามช่วงวัย ความถนัด และระดับชั้นของผู้เรียน 6) อื่นๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่ครูสามารถเข้าไปเลือกใช้ได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการหารือเพื่อตกลงหาจุดร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุง/พัฒนาสาระเนื้อหา ตลอดจนสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือเรียนและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ

จากนั้นที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทฯ ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรควรคำนึงถึงผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นสำคัญ ผู้เรียนสามารถตอบได้ว่าเรียนแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร เข้าใจความเป็นมา และความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ เช่น การเข้าใจบริบททางสังคม การรู้เท่าทันสื่อทางประวัติศาสตร์ ฝึกการใช้เหตุผล รวมถึงการเชื่อมโยงหลักสูตรในมิติอื่นๆ ทั้งระบบเศรษฐกิจ การค้าขาย การเมืองการปกครอง สู่การประยุกต์ประเด็นร่วมสมัยเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตลอดจนหวังให้การเรียนประวัติศาสตร์ช่วยฝึกการตั้งคำถาม การใช้เหตุผลที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อจัดทำแผนแม่บทที่ตรงความต้องการผู้เรียนและเชื่อมโยงโลกยุคปัจจุบันต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด