สกศ. ลุยต่อ ลงพื้นที่ประชุมระดมความคิดเห็น ณ ศรีสะเกษ

image

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านประเมินผลการจัดการศึกษา พร้อมด้วยคณะทำงาน ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ลงพื้นที่ประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือเพื่อการติดตามและประเมินผลการศึกษาของประเทศ : กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ณ วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ โดยมีนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านประเมินผลการจัดการศึกษา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสิริพงศ์  อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ

ในที่ประชุม นายณัฐวิชญ์ ศิริรัชฎานันท์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ ในฐานะประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด ได้นำเสนอข้อมูลภาพรวมการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และได้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมให้ข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญ อาทิ การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี ทวิศึกษา ทวิวุฒิ  นโยบายการเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษา และการใช้ระบบธนาคารหน่วยกิต (credit bank) ในการนี้ นายมนตรี สุริยพันตรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ ได้นำเสนอข้อมูลการจัดการศึกษาของวิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษมีจุดเด่น คือ การจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรแกนมัธยมที่มุ่งส่งเสริมอาชีพ เชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการอาชีวศึกษา

นอกจากนี้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในระยะต่อไป อาทิ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ การวางระบบเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารจัดการ การทำ MOU กับโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อเตรียมเด็กให้มีความรู้และทักษะในการศึกษาต่อในสถาบันอาชีวศึกษา การปรับกฎ และระเบียบให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

ช่วงบ่าย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมฯ กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านหนองนาเวียง อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย พระปลัดณัฎฐ์วี เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองนาเวียง นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นายอิศรา โพธิ์เงิน นายอำเภอน้ำเกลี้ยง นางสาวพยัตติกา ฉายถวิล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองนาเวียง คณะครู กรรมการสถานศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้อง

โรงเรียนบ้านหนองนาเวียง เป็นโรงเรียนที่ไม่เข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรม แต่เป็นโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยเฉพาะการใช้โปรแกรมการพัฒนาภาษาอังกฤษแนวใหม่ (DynEd : Dynamic Education International) ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ระหว่างผู้เรียนและเทคโนโลยีทางการศึกษาแบบออนไลน์ โดยผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นคือ ผู้เรียนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา ผู้เรียนสนุกไปกับการเรียนภาษาต่างประเทศ

การพัฒนาในระยะแรก โรงเรียนพัฒนาตามแนวโรงเรียนประชารัฐ ต่อมา โรงเรียนใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 1) ภาวะผู้นำดิจิทัล 2) การส่งเสริมวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3) การบริหารจัดการเชิงระบบ 4) นวัตกรรมบูรณาการ 5) การสร้างเครือข่ายและผลกระทบทางตรง และ 6) โรงเรียน (ดี) ปันสุข

ทั้งนี้ โรงเรียนยังเน้นความเป็นเลิศของผู้เรียนรอบ ควบคู่กับการพัฒนาครูให้เป็นคนดี คนเก่ง มีศักยภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีความเชี่ยวชาญในการจัดการศึกษาอย่างมืออาชีพ ด้วย Creative, Coach และ Care

สำหรับการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนได้ออกแบบการเรียนรู้ผ่าน Happy Model ในทุกสาระวิชา ผ่าน 6 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ครูดี หลักสูตรดี สอนดี สื่อและแหล่งเรียนรู้ดี ระบบประเมินผลดี โรงเรียน (ดี) ปันสุข ซึ่งผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี มีทักษะ และมีความสุขในการเรียน

 

ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่

https://drive.google.com/drive/folders/1mdbd2BPAi-KzanUJQQD92K27MGL7yDPR?usp=drive_link

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด