สกศ. ระดมไอเดีย สนับสนุนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ดร. นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมหารือแนวทางการสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมี นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา พร้อมด้วย ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษา ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.
ดร.นิติ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะองค์กรหลักที่รับผิดชอบจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอนโยบายในการสนับสนุนทรัพยากรด้านการศึกษา ซึ่งเน้นการเพิ่มโอกาส ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมทางการศึกษา ได้เห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินรายหัวขั้นพื้นฐานที่อาจยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและความชัดเจนในการสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงได้หารือแนวทางการดำเนินงานกับหน่วยงานด้านการศึกษา เพื่อนำไปสู่การได้ข้อเสนอเชิงนโยบายและพัฒนาเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ครอบคลุม เป็นธรรม และเป็นเอกภาพ
ด้าน นางรัชนี เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 มีมติให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเสนอ ซึ่งปัจจุบันรัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานในลักษณะของเงินอุดหนุนรายหัวหรือตามจำนวนผู้เรียน ผ่านโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึง ม.ปลาย/ ปวช. ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ-นอกระบบ โดยปรับอัตราเงินอุดหนุนต่อเนื่อง 4 ปี (พ.ศ. 2566 - 2569) โดยมี 5 รายการอุดหนุนฯ หลัก ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของผู้เรียนและสถานศึกษา
และจากการประชุมชี้แจงการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวและรับฟังความคิดเห็นต่อการสนับสนุนงบประมาณในลักษณะของเงินอุดหนุนรายหัวในกรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาค พบว่า การปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามมติคณะรัฐมนตรีฯ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเพียงบางส่วน ยังไม่ครอบคลุมและขาดความชัดเจนในการสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากนั้นที่ประชุมร่วมหารือแนวทางและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนรู้ ตามมาตรา 12 โดยประเด็นที่น่าสนใจ เช่น สภาพปัจจุบันของศูนย์เรียนรู้ จำนวนศูนย์การเรียนและผู้เรียน การจำแนกตามระดับการศึกษา รูปแบบ/ลักษณะการจัดตั้ง กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เงื่อนไขและข้อจำกัดในการสนับสนุน ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อเสนอแนะเป็นข้อมูลเชิงนโยบายในการสนับสนุนที่เหมาะสมต่อการพัฒนาแนวทางการสนับสนุนฯ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป