สกศ. ฟอร์มทีม เตรียมพร้อมเทียบเคียง ทวิวุฒิไทย – จีน ระดับอาชีวศึกษา

image

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ดร. นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานประชุมหารือการเตรียมการสำหรับการประชุมความร่วมมือเพื่อศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา  ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะทำงานสมเด็จเจ้าคุณธงชัย ผู้บริหารบริษัทถัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ.

ดร นิติ กล่าวว่า สภาการศึกษาได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework: NQF) เชื่อมโยง NQF และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework: AQRF) กับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยต้องมีการเทียบเคียงทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาสถานศึกษาในประเทศไทยก็ได้มีการร่วมมือกับประเทศจีนส่งนักศึกษาไทยไปเรียน และฝึกงานที่จีนมากมาย เช่น ด้านโลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ส (E-commerce)
ในครั้งนี้บริษัทถัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ประสานงานและเชื่อมโยงหน่วยการศึกษาของไทยกับหน่วยการศึกษาระดับต่างๆ ในประเทศจีน 

ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีกำหนดเดินทางไปประชุมในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษาในแต่ละระดับของประเทศจีนและประเทศไทย โดยจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาระบบทวิวุฒิและการเทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษาในแต่ละระดับของไทย - จีน ได้แก่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ โรงเรียนมัธยมสาธิตนครเทียนจิน ระดับอาชีวศึกษา ณ วิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ห่าย และระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน 

นอกจากนี้ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ให้ข้อมูลว่าจะมีการโฟกัสที่ระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นหลัก ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีที่สุด โดยมีการนำข้อมูลของวิทยาลัยอาชีวะในประเทศไทยและประเทศจีนมาวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักสูตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเทียบเคียงมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสและความท้าทายในการเชื่อมโยง NQF รวมถึง AQRF ไปสู่ระบบคุณวุฒิระดับภูมิภาคเอเชียต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด