สกศ. เน้นอัตลักษณ์ วิเคราะห์ SWOT 9 จังหวัดนำร่อง สู่แผนการศึกษาจังหวัด
วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามความก้าวหน้าการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา ดร.พรมณี ขำเลิศ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นราธิวาส สระบุรี สระแก้ว และชัยนาท และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx
ดร.นิติ นาชิต กล่าวว่า เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาโดยใช้แผนการศึกษาจังหวัดเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ที่จะสามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถชี้ทิศทางการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ได้นั้น ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การประชุมวันนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำองค์ความรู้และเทคนิคที่สำคัญไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำร่างแผนการศึกษาจังหวัดให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ได้แผนการศึกษาจังหวัดที่มีความเหมาะสม สอดคล้องตามความจำเป็นเข้ากับบริบทและอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
ที่ประชุมร่วมรับฟังการอภิปราย เรื่อง การติดตามความก้าวหน้าในการวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก (SWOT Analysis) ด้านการศึกษา และการกำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาจังหวัด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา และ ดร.พรมณี ขำเลิศ วิทยากรจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การนำเสนอภาพรวมการวิเคราะห์เพื่อการกำหนดกลยุทธ์ ผ่านเครื่องมือ SMART และหลักการการวิเคราะห์ SWOT ที่ทำให้เข้าใจผลการดำเนินงานขององค์กร จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสทางสภาพแวดล้อมเพื่อการบรรลุเป้าหมาย และอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ SWOT จะเป็นแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนาไปในทางที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่สู่สังคมที่มีมูลค่าสูงทางการศึกษาและการพัฒนาการศึกษา
จากนั้นที่ประชุมร่วมรับฟังรายงานความก้าวหน้าของจังหวัดนำร่อง ทั้ง 9 จังหวัด โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคจากผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชัยนาท นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด สระบุรี สระแก้ว กาฬสินธุ์ ชุมพร ซึ่งแต่ละจังหวัดมีจุดแข็งในด้านภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการศึกษา และมีภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการศึกษา จุดอ่อนด้านการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา ด้านความเหลื่อมล้ำ และผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษายังไม่ตอบโจทย์ด้านความเป็นเลิศทางการศึกษา โอกาส โดดเด่นด้านเกษตรกรรม และการเข้าถึงเทคโนโลยีการสร้างอาชีพในจังหวัดที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม อุปสรรค ด้านยาเสพติด และความยากจน ทั้งนี้มีการนำอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ มาวิเคราะห์เป็นพันธกิจ วิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยมองค์กร ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด เพื่อใช้ในการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และรับฟังข้อเสนอแนะจากวิทยากร เกี่ยวกับแนวทางการกำหนดสาระสำคัญของแผนการศึกษาจังหวัด Workshop การจัดทำสาระสำคัญของแผน รวมถึงประเด็นการถ่ายทอดยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ประเด็นการปรับปรุงคุณภาพเครื่องมือเพื่อเป็นแนวทางในการต่อยอดโมเดลการศึกษาของจังหวัด ที่สามารถพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ และจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพต่อไป