สกศ. หารือแนวทางการปรับค่าไฟฟ้า ลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ
วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมปรึกษาหารือแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น 2 อาคาร 1 สกศ. ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม WebEx
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มุ่งสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาโดยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา รวมถึงเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลง บริบทผู้เรียนและสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ จากผลการศึกษาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของ สกศ. พบว่า สถานศึกษาแบกรับค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเข้าถึงแหล่งข้อมูล และระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาและการบริหารจัดการของสถานศึกษา กลุ่มนโยบายการเงินการคลังและทรัพยากรทางการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ. จึงได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดค่าใช้จ่ายสถานศึกษา รวมถึงยกระดับคุณภาพการศึกษาและการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยมีข้อเสนอในการลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาฯ ด้านไฟฟ้าและพลังงานทดแทน
ที่ประชุมร่วมกันรับฟังข้อเสนอแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษา โดย กลุ่มนโยบายการเงินการคลังและทรัพยากรทางการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ. เสนอให้กำหนดสถานศึกษาเป็นอีกหนึ่งประเภทของผู้รับบริการในค่าไฟฟ้าฐานเพิ่มเติม การลดภาระค่าไฟฟ้าโดยการลดหรือยกเลิกค่า FT สำหรับค่าไฟฟ้าในสถานศึกษา การแยกค่าไฟฟ้าออกจากเงินอุดหนุนรายหัว การเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า การเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟ และการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการติดตั้ง Solar Rooftop
จากนั้น ที่ประชุมรับฟังข้อคิดเห็นแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจากผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ถึงการกำหนดสถานศึกษาเป็นผู้รับบริการในค่าไฟฟ้าฐานอีกประเภทหนึ่งนั้นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนและคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง ในกรณีการลดหรือยกเลิกค่า FT สำหรับค่าไฟฟ้าในสถานศึกษานั้นเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติและไม่ยั่งยืน เนื่องจากรัฐอาจต้องใช้งบกลางเพื่อมาชดเชยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อไม่ให้ครัวเรือนหรือกิจการประเภทอื่น ๆ รับภาระ ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบแนวทางการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป