สกศ. ขับเคลื่อนแผนการศึกษาจังหวัด สู่เป้าหมายพัฒนากำลังคนตามช่วงวัย
วันที่ 9 เมษายน 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด พร้อมด้วย ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงความสำคัญการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดควรสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม GDP ในแต่ละพื้นที่ เพื่อการพัฒนากำลังคนให้ตรงตามบริบทแต่ละท้องที่ และเกิดการใช้งบประมาณที่เหมาะสม พร้อมควรนำศิลปะ วัฒนธรรม เข้าบูรณาการกับการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพประชากรและเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ต่อมา ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยสนับสนุนแนวคิดและเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาให้ควรครอบคลุมและเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย พร้อมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัดซึ่งมีความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ตนอยู่แล้ว ร่วมกันจัดการศึกษา รูปแบบการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีในการพัฒนาประเทศ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาแผนการศึกษาระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดกำลังคนที่ตรงกับบริบทพื้นที่สู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
ต่อมาที่ประชุมได้ร่วมอภิปรายเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำ (ร่าง) แผนการศึกษาจังหวัด รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา และ ดร.พรมณี ขำเลิศ วิทยากรจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่อง หลักการและเทคนิคการจัดทำยุทธศาสตร์ Workshop เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก (SWOT Analysis) ด้านการศึกษาจังหวัด การวิเคราะห์ Gap Analysis สำหรับการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดประกอบด้วยขั้นตอน 3 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 ระบบเข็มมุ่ง โดยเกี่ยวกับการกำหนดพันธกิจ คุณค่า ยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ ระดับที่ 2 ระบบปฏิบัติการ และระดับที่ 3 ระบบสนับสนุน เกี่ยวกับการจัดการด้านการเงิน เทคโนโลยี บุคลากร พร้อมทั้งได้ร่วมทำ Workshop โดยอาศัยการวิเคราะห์ ประเด็น SWOT สู่การกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำความรู้ ทักษะจากการปฏิบัตินำไปใช้ในการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด สู่การผลิตและพัฒนากำลังคนให้เหมาะสมตามช่วงวัย