สกศ. มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สู่การขับเคลื่อน Soft Power
วันที่ 28 มีนาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการประชุมสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรื่อง การขับเคลื่อน Soft Power แห่งชาติ กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและพิจารณาเสนอแนะแผนกลยุทธ์การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงแห่งชาติ นางสาวิตรี สุวรรณสถิต ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม ประธานคณะกรรมการคัดเลือกเมืองสร้างสรรค์และเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโก นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ สกศ. ร่วมประชุม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook เพจ "สภาวะการศึกษาไทย สกศ." โดยเพจ “สภาการศึกษา” และ “ข่าวสภาการศึกษา” ร่วมแชร์
โลกในยุคปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สังคมเผชิญความไม่แน่นอน ไม่สามารถทำนายสถานการณ์ล่วงหน้าได้ ดังนั้น ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นเครื่องมือที่มีความสามารถในการส่งต่อสิ่งที่ต้องการพัฒนา โดยผ่านสิ่งที่สนใจ ความหลงใหล วัฒนธรรม การเมือง รวมถึงสอดแทรกนโยบายต่าง ๆ การร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ประเภทต่าง ๆ ทำให้เกิดส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงช่วยสร้างคุณค่าและความยั่งยืน อีกทั้งนำไปสู่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงความน่าสนใจของซอฟต์พาวเวอร์ในการตีความที่แตกต่างกัน ในด้านบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีหน้าที่สนับสนุนและผลิตกำลังคนที่จะสร้างสรรค์ซอฟต์พาวเวอร์ในอนาคตต่อไป
ประจิน จั่นตอง กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงแห่งชาติ ว่าสิ่งที่จะขับเคลื่อนพลังซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบด้วย 3 ประการ อาทิ วัฒนธรรม (Culture) ค่านิยมทางการเมือง (Political Value) และนโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy) รัฐบาลมีความมุ่งหมายให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ใช้ความน่าหลงใหลทางมรดกไทย ความเป็นไทย (Thainess) มาขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ คุณค่าทางสังคมและความมั่นคงแห่งชาติ โดยเชื่อมโยงกับศาสตร์ของพระราชา แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับมุมมองและทิศทางซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (Thai Soft Power) สาวิตรี สุวรรณสถิต ได้กล่าวว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นอำนาจในการโน้มน้าวใจคนจากความน่าสนใจที่ทำให้คนอื่นชื่นชอบ นิยมและทำตาม ทำให้มีสร้างองค์กรที่เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ทางด้านเชิงเศรษฐกิจ ซึ่ง วิษณุ เครืองาม ให้ความคิดเห็นสอดคล้องกันในการใช้อำนาจจากความหลงใหลในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากแนวความคิด การประยุกต์สิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งนวัตกรรมที่ทันสมัย สามารถกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในอนาคตได้
ทั้งนี้ สภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของชาติ จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะมาปรับใช้สำหรับการวางแผนจัดทำนโยบายการศึกษาของไทยให้มีความเหมาะสม มีคุณภาพ และเกิดประประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแรงงานทักษะสูงโดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละสาขา เนื่องจากสถานศึกษามีความโดดเด่นในอัตลักษณ์ของตนเองจึงควรใช้พัฒนาผู้เรียน เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป