สกศ. ล่องใต้ จัด Focus Group สำรวจประเด็นใหม่ ขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ สู่การประชุมสมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาค ครั้งที่ 3 จังหวัดกระบี่
วันที่ 25 มีนาคม 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมการจัดกิจกรรม Focus Group ก่อนการประชุมยกระดับกลไกการมีส่วนร่วม “สมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาค (Regional Education Assembly)” ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จังหวัดกระบี่ โดยมี นายธาดา เศวตศิลา กรรมการสภาการศึกษา นายชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ นางสาวกรกมล จึงสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สกศ.) ผศ.ดร.กอบสุข คงมนัส อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้แทนสมัชชาการศึกษาจังหวัด สภาการศึกษาจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สภาเด็กและเยาวชน ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมวัฒนพลเมือง หน่วยงานเอกชน มูลนิธิ ภาควิชาชีพ รัฐวิสาหกิจชุมชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรมกระบี่รีสอร์ท จังหวัดกระบี่
สำหรับการร่วมเสวนากลุ่มครั้งนี้ ที่ประชุมร่วมรับฟังมติสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติด้วยกัน 2 มติ ประกอบด้วย
มติที่ 1 การสร้างหลักประกันการเข้าถึงการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และ มติที่ 2 การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ได้จัดการอภิปรายกลุ่มย่อย (Focus Group) โดยแบ่งผู้เข้าร่วมอภิปรายเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้แทนสมัชชาการศึกษาจังหวัด / สภาการศึกษาจังหวัด กลุ่มที่ 2 นักเรียน นักศึกษา เยาวชน กลุ่มที่ 3 ศธจ. / สำนักงานเขตพื้นที่ / อปท.สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด และกลุ่มที่ 4 หน่วยงานเอกชน / มูลนิธิ / ภาควิชาชีพ / ตัวแทนผู้ปกครอง / รัฐวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งจัดการอภิปรายกลุ่มด้วยกัน 2 หัวข้อ ดังนี้ 1) การขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ พัฒนาการศึกษาในพื้นที่
2) ฉากทัศน์สมัชชาฯ พาสำรวจประเด็นใหม่ อยากเห็นการศึกษาในพื้นที่เป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจจากกิจกรรม Focus Group เกี่ยวกับมติที่ 1 การสร้างหลักประกันการเข้าถึงการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ผู้แทนภาคใต้เห็นความสำคัญ ควรประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) พร้อมทั้งเชื่อมโยงสะสมหน่วยการเรียนรู้ในทักษะทุก ๆ ด้าน การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถานประกอบการ อาจต้องมีคนกลางในการเชื่อมโยง ควรส่งเสริมให้มีบุคลากรที่มีประสบการณ์มาแนะแนวผู้เรียนในด้านที่สนใจ รวมทั้งควรมีการเสริมหลักสูตรการศึกษาในด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
ต่อมาในหัวข้อมติที่ 2 การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย ผู้แทนภาคใต้เห็นว่าควรสนับสนุนแพลตฟอร์มแหล่งเรียนรู้ออนไลน์โดยมุ่งเน้นจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งควรใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง สำหรับฉากทัศน์สมัชชาฯ พาสำรวจประเด็นใหม่ อยากเห็นการศึกษาในพื้นที่เป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า ผุ้แทนภาคใต้ให้มุมมองในด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าหน่วยงานของรัฐ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีบทบาทในการเชื่อมโยงภาคเอกชน เสริมสร้างองค์ความรู้อย่างแท้จริง มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพ สนับสนุนการลงมือปฏิบัติของผู้เรียนมากกว่าผลการเรียน ควรส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ และความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
จากการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรในท้องถิ่น เป็นประเด็นด้านการศึกษาที่น่าสนใจต่อการพัฒนาการศึกษาในแต่ละพื้นที่ ทีมวิทยากร สกศ. จึงได้รวบรวมข้อมูล สรุปประเด็นจากการเสวนาย่อย สู่เวทีประชุมสมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเครือข่ายสมัชชา ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม 2567 โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook : สภาการศึกษา หรือ https://www.facebook.com/OECSocial ทั้งนี้ก็เพื่อออกแบบ พัฒนาระบบกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาไทยให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ด้วยการร่วมมือ สนับสนุนของทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคเพื่อเป็นการปูรากฐานการศึกษาที่แข็งแรงสู่การยกระดับการศึกษาในระดับประเทศต่อไป