สกศ. ถกเข้ม เล็งเชื่อมโยงหลักสูตร NQF ปวส. - ป.ตรี สาขาระบบขนส่งทางราง
วันที่ 20 มีนาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมหารือเพื่อให้ข้อคิดเห็นในการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในระดับอุดมศึกษา และระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง : สาขาระบบขนส่งทางราง พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ ดร.ศรายุทธ ทองอุทัย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx
ที่ประชุมรับฟังการนำเสนอหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาระบบขนส่งทางราง โดยมีประเด็น โครงสร้างหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ความร่วมมือกับสถานประกอบการ และสถานศึกษาทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาหลักสูตร แนวทางการจัดการเรียนการสอน การฝึกประสบการณ์ และการประเมินมาตรฐานอาชีพ ซึ่งได้เตรียมสร้างความต่อเนื่องในหลักสูตร รวมถึงการเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพและสมรรถนะเข้ามาใช้ในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. สามารถเทียบโอนเข้าศึกษาในระดับ ป.ตรี ได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีผลลัพธ์การเรียนรู้และสมรรถนะตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในพื้นที่
จากนั้นวงประชุมเชื่อมโยงถึงการพิจารณา (ร่าง) หลักสูตรระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมระบบราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรใหม่ คาดการพร้อมใช้ปีการศึกษา 2568 สำหรับเทียบโอนเข้าศึกษาต่อ โดยแบ่งระยะเวลาในการเรียนต่อสำหรับผู้เรียนเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่จบชั้น ม.6 และ ปวช. เรียน 4 ปี และผู้ที่จบ ปวส. เรียน 3 ปี โดย มทร. ได้มีการวางหมวดวิชาอ้างอิงตามเกณฑ์สภาวิศวกร เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมที่สภาวิศวกรรับรอง และมีคุณสมบัติสำหรับสมัครเข้ารับการทดสอบเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยด้านวิศวกรรม
นับเป็นความท้าทายในการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาอาชีพนำร่องตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ทั้งนี้ สกศ. มีข้อเสนอแนะหลักสูตรต้องเน้นให้สามารถเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิในระดับต่าง ๆ โดยมี NQF 8 ระดับเป็นตัวตั้ง เพื่อเป็นต้นแบบการเชื่อมโยงหลักสูตรระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษาอื่นต่อไป