สกศ. หารือนำร่องเทียบรายวิชามัธยมศึกษาตอนปลาย-อาชีวศึกษาเข้าสู่ Credit Bank แห่งชาติ
วันที่ 11 มีนาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ รักษาราชการแทน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุม การเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมพลศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนช่างฝีมือทหาร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx
ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ รักษาราชการแทน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เกียรติบรรยายพิเศษ เรื่องการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ภายใต้การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ โดยการเทียบคุณวุฒิทางการศึกษา (การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา) ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ระดับ 1 ถึงระดับ 8 และคุณวุฒิทางวิชาชีพ (ตามมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาตรฐานอื่น ๆ ) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการเชื่อมโยงระดับคุณวุฒิของประเทศ โดยยึดตามระดับสมรรถนะ ด้านความรู้ ทักษะ และความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ ซึ่งผู้เรียนและประชาชนสามารถนำหน่วยกิตมาสะสมไว้ในระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มของธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และนำมาเทียบโอนในการเพิ่มคุณวุฒิการทำงานและการศึกษาต่อได้
จากนั้นที่ประชุมร่วมหารือ พิจารณาคัดเลือกสาขาวิชา ระดับการศึกษา และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานการเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในระดับ 2 และ 3 ซึ่งเทียบกับคุณวุฒิทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และการอาชีวศึกษา(ปวช.) ทั้งนี้ หน่วยงานมีหลักสูตรทั้งที่ส่วนกลางกำหนดและหลักสูตรของสถานศึกษากำหนดเอง ซึ่งมีรายวิชาที่สามารถเทียบโอนได้และบางรายวิชาที่ยังไม่สามารถเทียบโอนได้ นอกจากนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะด้านหลักเกณฑ์กลางสำหรับตัวชี้วัด เนื่องจากสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเกณฑ์สำหรับการรับรองหลักสูตรในการเทียบโอนของธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ทั้งนี้ สกศ. จะใช้ข้อมูลที่ได้นำร่องการดำเนินงานการเทียบรายวิชาของหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบการดำเนินงานของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของประเทศต่อไป
ดาวน์โหลดรูปภาพได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1_6zkkLS_4ozLMX45i59iOIK6rgNRut2E?usp=drive_link