สภาการศึกษาลงพื้นที่ลาดกระบัง-แปดริ้วเก็บข้อมูลเชิงลึก หวังยกระดับผลสอบ PISA และการบริหารทุนมนุษย์ EEC

image

วันที่ 8 มีนาคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นำโดย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา จัดการประชุม “รับฟังความคิดเห็นและเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับผลการทดสอบ PISA และบริการทุนมนุษย์สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน” โดยมี ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะอนุกรรมการบริหารทุนมนุษย์เพื่อเข้าสู่  EEC Model ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา นางสาวนันนกรฐ์ ทิพย์สูงเนิน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ณ โรงเรียนพรตพิทยพยัต และศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

ดร.อาภาพร วรรณสุนธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต ได้กล่าวต้อนรับคณะพร้อมทั้งให้ข้อมูลเบื้องต้นของโรงเรียน โรงเรียนพรตพิทยพยัตถือเป็นโรงเรียนที่มีความหลากหลายของนักเรียนซึ่งมีภูมิลำเนาแตกต่างกันไป  นักเรียนหลายคนย้ายภูมิลำเนาตามผู้ปกครองเพื่อประกอบอาชีพเพราะสภาพแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม และโรงเรียนได้มีประสบการณ์เข้าร่วมและจัดการสอบ PISA 2022 ด้วยเหตุนี้ทั้ง ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม และ ดร. อรรถพล สังขวาสี จึงเห็นพ้องต้องกันว่าโรงเรียนแห่งนี้มีความน่าสนใจสามารถศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับการยกระดับผลการสอบ PISA ครั้งต่อไปและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารทุนมนุษย์

ดร.อรรถพล สังขวาสี และ ดร. ณหทัย ทิวไผ่งาม ได้ร่วมกันซักถามข้อมูลกับครูนักเรียนถึงความรู้สึกและลักษณะของการสอบ PISA นักเรียนตัวแทนกล่าวว่า “ข้อสอบ PISA มีความยากมากกว่าเนื้อหาในชั้นเรียนเพราะว่าจะต้องประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ด้านวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ต้องใช้การแก้ปัญหาซับซ้อน ส่วนด้านการอ่านโจทย์มีบทความที่ค่อนข้างยาว” สอดคล้องกับตัวแทนครูที่เห็นว่า “ข้อสอบนั้นไม่ได้ใช้ความรู้ขั้นสูงแต่เน้นการใช้ความรู้พื้นฐานมาประยุกต์ใช้” สำหรับปัญหาความยาวของบทความนั้นส่งผลให้นักเรียนบางส่วนทำข้อสอบไม่ทัน แต่นักเรียนที่ทำข้อสอบได้ทันเป็นเพราะว่าตนฝึกฝนการอ่านและสรุปความ นอกจากนี้ทางโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมในหลายด้านก่อนทำการสอบ เช่น การมอบหมายให้ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนผ่านบูรณาการเนื้อหาข้อสอบ PISA เข้าสู่ชั้นเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยกับลักษณะข้อสอบ นอกจากนี้ยังมีการส่งบุคลากรในโรงเรียนเข้าร่วมอบรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้ด้านการจัดสอบ PISA อีกด้วย

ที่ประชุมทุกภาคส่วนทั้งนักเรียน ครู และศึกษานิเทศก์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการสอบ PISA ครั้งก่อน ทางโรงเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการสอบ PISA โดยเป็นการสอบที่จำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย เพราะเป็นข้อสอบที่สามารถประเมินด้านการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนมีศักยภาพพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สำหรับการยกระดับการทดสอบโรงเรียนเห็นว่าควรนำรูปแบบการทดสอบ PISA มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวัดประเมินผล ที่ประชุมยังแสดงความคิดเห็นเสนอแนะแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุดเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ว่า ควรมีการประชาสัมพันธ์ วางแผน และเตรียมความพร้อมให้ทั่วถึง โดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์ที่ควรให้โรงเรียนทุกโรงเรียนได้มีภูมิความรู้เกี่ยวกับการสอบ PISA ทั้งรูปแบบข้อสอบ ระบบการสอบ วิธีการสอบ และเนื้อหาข้อสอบ นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

หลังจากการประชุม ดร. อรรถพล สังขวาสี และ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม เดินทางต่อไปยัง “ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา” โดยมีนายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับพร้อมทั้งบรรยายความเป็นมาของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยหวังให้เมืองแปดริ้วเป็น “เมืองสวยงามน่าอยู่ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ คู่คุณธรรม” ภายในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เต็มไปด้วยกิจกรรมและนิทรรศการหมุนเวียนมากมายเพื่อประชาชนทุกช่วงวัยตลอดจนผู้พิการ กิจกรรมที่จัดขึ้นในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ล้วนเกิดขึ้นอย่างไม่แสวงหาผลกำไรเน้นหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางศูนย์การเรียนรู้ได้ทำเช่นนี้และพัฒนาตลอดมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2563 เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมือง แห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ถือเป็นการประสบผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ สำหรับเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) มากยิ่งขึ้น

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่ “โรงเรียนพรตพิทยพยัต” และ “ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา” ทำให้ สกศ. ได้รับแนวคิดอันมีคุณค่าต่อการยกระดับผลการสอบ PISA และได้เห็นต้นแบบเมืองแห่งการศึกษาที่สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ ทุกองค์ความรู้ที่ได้ในตลอดทั้งวันนี้ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการกำหนดนโยบายการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประไทยให้ทัดเทียมสากลต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด