เลขาธิการสภาการศึกษานำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบาย "การเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการมีงานทำ" ในหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง

image

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.อรรถพล สังขวาศรี เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะผู้บริหารสูงสุดระดับกระทรวงหรือ ป.ย.ป. 1 ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน ในการพัฒนาต้นแบบนโยบาย ของหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ป.ย.ป ต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี  ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ภายใต้โจทย์บูรณาการหัวข้อที่ 1 "การเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการมีงานทำ" โดยมีผู้บริหารระดับสูง 19 หน่วยงาน ภายใต้โจทย์บูรณาการ 5 หัวข้อ โจทย์หัวข้อที่ 1 เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีนางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา และ ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เข้าร่วมกิจกรรมในหลักสูตรดังกล่าวในฐานะ ป.ย.ป. 4

การพัฒนาต้นแบบนโยบาย ดังกล่าวมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ผู้เรียนและกำลังคนของประเทศมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการมีงานทำ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มที่อยู่ในระบบการศึกษาและกลุ่มนอกระบบการศึกษา ซึ่งมีเด็กที่ความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่า 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ป. 6 ม. 3 และ ม. 6 ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และมีการพัฒนาต้นแบบนโยบายโดยการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้เรียน การพัฒนารูปแบบความช่วยเหลือ โดยใช้กลไกในเชิงพื้นที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นฐานหลัก ทดลองนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น พัทลุง และลำปาง ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มุ่งเน้นการใช้กลไกของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในการเชื่อมโยงการศึกษาทั้งระบบทั้ง 3 ระบบ ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถนำผลการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานหรือการประกอบอาชีพมาขอรับการเทียบโอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับคุณวุฒิการศึกษาและมีงานทำผ่านระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำบทบาทของครู และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน รวมถึงการลดเวลาเรียนในห้องเรียนให้น้อยลง โดยส่งเสริมให้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน ตลอดจนการมีระบบที่ให้ผู้เรียนสามารถไปทำงานแล้วกลับมาเรียนเพื่อรับปริญญาบัตรหรือคุณวุฒิการศึกษาได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับคุณวุฒิการศึกษา และใบ รับรองมาตรฐานอาชีพ รวมถึงการจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ใช้กลไกของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด