สกศ. ลุย Workshop แผนระดับ 3 ยกระดับความสามารถการแข่งขันการศึกษาไทยสู่เวทีโลก
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนระดับ 3 ด้านการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานและต้อนรับ พร้อมด้วย นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้บริหาร ครู บุคลาการทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมราชา 2 โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้มีขีดความสามารถทัดเทียมกับนานาประเทศ ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งได้กำหนดให้ผลการทดสอบ PISA เป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย และตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นนโยบายการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การยกระดับผลการทดสอบ PISA และความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษา และเพื่อยกระดับทักษะของผู้เรียนให้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานนั้น ต้องอาศัยมุมมอง ข้อคิดเห็นและความร่วมมือพัฒนาการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อันจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการการจัดทำแผนระดับ 3 ด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลต่อไป
ที่ประชุมร่วมรับฟังการนำเสนอ แนวทางการพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศจาก นางสาวดารารัตน์ โฆษิตพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ ในด้านหลักการฯ แผนการดำเนินงานฯ ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 การเปรียบเทียบการดำเนินงานการจัดทำตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2568 และประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) สำหรับการกำหนด Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในประเด็นการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) โดยตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ 1)สัดส่วนนักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ร้อยละ 50 ขึ้นไปของคะแนนเต็ม ใน 3 วิชา ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่อจำนวนนักเรียนระดับ ม.3 ที่เข้ารับการทดสอบ (ภายในปี 2570) 2)คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานของนักเรียนชั้น ม.3 ที่เข้ารับการทดสอบ ใน 3 วิชา
จากนั้นมีการแบ่งกลุ่มอภิปราย การจัดทำแผนระดับ 3 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม จากผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ภาคเอกชน นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อระดมความคิดเห็นในด้านการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยมีข้อเสนอ คือ การพัฒนาศักยภาพครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษา ภาคเอกชนมีส่วนในการสนับสนุนการศึกษาดูงาน รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์นำไปจัดทำแผนระดับ 3 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากลและการแข่งขันการศึกษาสู่เวทีโลกต่อไป