สกศ. เดินหน้าวิพากษ์หลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF ของโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิพากษ์หลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ของโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 1 ปี เปิดสอนใน 5 สาขางานที่เป็นที่ต้องการ ได้แก่ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมรถยนต์ และช่างสีรถยนต์ ในวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ควบคู่กับระบบออนไลน์
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวเปิดการประชุมและมอบนโยบายในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนได้รับใบประกาศนียบัตรของโรงเรียน ควบคู่กับมารับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) และมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) โดย ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้บรรยายพิเศษการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ภายใต้การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อมุ่งเน้นให้หลักสูตรของโรงเรียนเป็นหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และสามารถสะสมผลการเรียนรู้ในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติได้ในอนาคต โดยนางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ได้นำเสนอผลการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กพร. สคช. และหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา วิทยาลัยเทคนิคยะลา และสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดยะลา
ในการวิพากษ์หลักสูตรดังกล่าว ทางโรงเรียนได้รับฟังข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ ดร.ศรายุทธ ทองอุทัย พร้อมด้วยนายปิยะ แสงจันทร์ จาก กพร. นางบุษกร เสนีย์โยธิน จากสคช. และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ คือ นายสุนทร แก้ววิฬา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ๒๔ ยะลา และนายศราวุธ ชุมภูราช รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคยะลา นำไปปรับ (ร่าง) หลักสูตรทั้งในส่วนของหมวดเตรียมช่างพื้นฐาน และวิชาชีพเฉพาะให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมสำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษารุ่นที่ 14 ที่จะเปิดสอนในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งนอกจากการมุ่งเน้นให้ศิษย์พระดาบสทุกคนมีสมรรถนะตามที่สถานประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่ต้องการ มีงานทำ มีรายได้ที่เหมาะสมแล้ว ทางโรงเรียนยังได้ตั้งเป้าหมายให้โรงเรียนมีความเป็นเลิศในการผลิตช่างเชื่อม และช่างสีรถยนต์ ซึ่งเป็นช่างพื้นฐานที่มีความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ