สกศ. ฟังความเห็นสู่ “แผนระดับ 3” อัปเกรดความสามารถการแข่งขันทางการศึกษาไทยทัดเทียมสากล

image

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุม "รับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำแผนระดับ 3 ด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล" โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา  ข้าราชการ และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.  ควบคู่กับการประชุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Zoom

ดร.อรรถพล สังขวาสี กล่าวเปิดการประชุมโดยกล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาไทยโดย พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่าอยากให้เยาวชนมีความตระหนักต่อการทดสอบวัดผลต่าง ๆ โดยเฉพาะผลสอบ PISA ที่ส่งผลต่อคะแนนการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD (International Institute for Management Development) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและเราต้องร่วมกันเร่งแก้ปัญหาต่อไป สุดท้ายได้กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ว่า “เวทีนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างกับขับเคลื่อนการศึกษาในรูปแบบนโยบาย” เนื่องจากแผนระดับ 3 ด้านการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางด้านการศึกษาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเพิ่มศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้ทัดเทียมกับสากล

ต่อมา นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ได้กล่าวชี้แจงแนวทางการดำเนินงานจัดทำแผนระดับ 3 ในประเด็นต่าง ๆ  เช่น สาระสำคัญของแผนฯ และคณะทำงานฯ ขั้นตอนในการจัดทำแผนฯ ประเด็นรับฟังความคิดเห็น นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องสภาวการณ์การศึกษาไทยที่สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม โดยนำเสนอผลการจัดอันดับจากหลายองค์กรนานาชาติที่สะท้อนถึงความสามารถด้านการแข่งขันทางการศึกษาในประเทศไทยให้ประชุมได้รับทราบโดยเฉพาะ IMD 2023 จากผลการจัดอันดับประเทศไทยมีภาพรวมดีขึ้นในอันดับที่ 30 โดยเพิ่มขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน และในภาพรวมด้านการศึกษาอยู่ในอันดับ 54 ลดลง 1 อันดับจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่ามีตัวชี้วัดย่อยนั้นมีทั้งดีขึ้นและลง หนึ่งในตัวชี้วัดที่โดดเด่นคือ “การจัดการศึกษาสาขาบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ” ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 18 อันดับ ตัวชี้วัดต่าง ๆ ถือว่าช่วยทำให้เห็นภาพการขับเคลื่อนการศึกษาได้ชัดเจนมายิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการร่วมแสดงความเห็นต่อไป

ภายในที่ประชุมทุกหน่วยงานร่วมกันแสดงความเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนระดับ 3 พบประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้ตระหนักมากมาย เช่น การตั้งเป้าหมายของแผนให้ชัดเจน การปรับการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ การเรียนการสอนรายบุคคล (Individualized Instruction) นอกจากแนวคิดอันทรงคุณค่าหลายหน่วยงานยังนำเสนอวิธีการดำเนินงานของตนซึ่งใช้เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีในการจัดทำแผนระดับ 3 สิ่งที่หลายหน่วยงานกล่าวตรงกันคือ “ความร่วมมือ” ที่ทุกหน่วยงานรัฐ-เอกชนพร้อมร่วมมือกันเพื่อประโยชน์แก่ผู้เรียน สอดคล้องกับคำกล่าวปิดการประชุมของนางอำภา พรหมวาทย์ ว่า “ในการประชุมครั้งนี้อาจมองได้ว่าทุกภาคส่วนร่วมผลักดันการศึกษาเพื่อตอบตัวชี้วัดของ กพร. แต่เป้าหมายที่แท้จริงแน่นอนว่าคือร่วมมือกันการพัฒนาการศึกษาไทย” สุดท้าย สกศ. พร้อมตอบสนองทุกความตั้งใจที่ต้องการพัฒนาการศึกษาไทย เราจะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ไปบูรณาการสู่การจัดทำแผนระดับ 3 ต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด