สกศ. ยกเครื่องพัฒนาครูทั้งระบบ สู่ยุค BANI World
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการยกเครื่องกระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบสู่การเป็นครูสมรรถนะสูงในยุค BANI World ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา กล่าวต้อนรับ เปิดประชุม และแจ้งรายละเอียดการประชุม พร้อมคณะทำงานจากกรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการบุคลากร สกศ. เข้าร่วม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom meeting
ฝ่ายเลขานุการ แจ้งอำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการยกเครื่องกระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบสู่การเป็นครูสมรรถนะสูงในยุค BANI World เพื่อปฏิรูปกลไก ระบบการผลิตและพัฒนาครู บุคลากรการศึกษาให้มีคุณภาพ สู่การขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดคล้องนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
ต่อมาฝ่ายเลขานุการ แจ้งเพื่อพิจารณาต่อคณะทำงาน เรื่อง กรอบแนวทางการดำเนินงานการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอการยกเครื่องกระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบสู่การเป็นครูสมรรถนะสูงในยุค BANI World กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมเกิดการผันผวนสูง ไม่แน่นอน ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อการศึกษา จากการวิเคราะห์สถานการณ์การศึกษาของประเทศ โดยกลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา เล็งเห็นว่าสำหรับการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ครูเป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างการเรียนรู้ต่อผู้เรียน ควรดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ครูกับการพัฒนาการศึกษาไทย ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ประกอบด้วยครูผู้สอน และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาทุกภาคส่วน
จากนั้นฝ่ายเลขานุการ กล่าวนำเสนอกรอบการดำเนินงาน อันประกอบด้วยวัตถุประสงค์ ประเด็นการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง/แหล่งข้อมูล เครื่องมือ/วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษา วิเคราะห์สภาวการณ์ปัจจุบัน ปัญหา อุปสรรค และความท้าทายของกระบวนการผลิตและพัฒนาครูทุกสังกัดและประเภทการศึกษา 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างความสำเร็จในการผลิตและพัฒนาครูของต่างประเทศ 3) เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การพัฒนากระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบสู่การเป็นครูสมรรถนะสูง โดยคณะทำงานได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเครื่องมือในการเก็บข้อมูลการศึกษาควรสอดคล้องกับความมุ่งหมายผลสัมฤทธิ์แต่ละบริบทของหน่วยงาน เช่น สำหรับอาชีวศึกษา ที่มุ่งเน้นการผลิต พัฒนาครูให้มีทักษะวิชาชีพ สู่ประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ อีกทั้งคณะทำงานเห็นร่วมกันถึงบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงด้านมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านจิตใจที่ควรสนับสนุนและเพิ่มเติมหลักสูตรด้านจิตวิทยาให้กับครูผู้สอน รวมถึงการนำเทคโนโลยีสำหรับบูรณาการการจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัย เพื่อถอดบทเรียนจากสถานศึกษามาประกอบการจัดทำแนวนโยบายการศึกษาของไทยอย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้สอดคล้องนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป