สกศ. ร่วมขับเคลื่อนกฎหมายตามนโยบายการศึกษา

image

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมายการศึกษา ครั้งที่ 1/2567 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานอนุฯ กล่าวต้อนรับและเปิดประชุม พร้อมด้วยนายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสภาการศึกษา คณะอนุกรรมการฯ และข้าราชการบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx

คณะอนุฯ ให้ความเห็น เรื่อง แนวทางสำหรับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาให้กับสามเณร เห็นว่าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่สามเณรที่บวชเรียนภายในวัดโดยพระภิกษุ ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนแบบ Home School ดังนั้นคณะอนุฯ จึงเห็นชอบให้นำกลไกการส่งเสริมการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มาใช้รับรองการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่สามเณรในระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่สามเณร

จากนั้นฝ่ายเลขานุการฯ ได้แจ้ง เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยมีประเด็นพิจารณา 4 เรื่อง ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 กรณีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเด็นที่ 2 กรณีสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ ในการสนับสนุนหรือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเด็นที่ 3 กรณีการจัดทำฐานข้อมูลระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคลของศูนย์การเรียน ประเด็นที่ 4 กรณีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว สำหรับประเด็นที่ 1 และ 2 คณะอนุฯ ได้รับทราบและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดการให้สอดคล้องกับบริบทกฎหมายต่อไป สำหรับประเด็นที่ 3 และ 4 ทางคณะอนุฯ เห็นสมควรให้ดำเนินการมอบหมายหน้าที่ต่อกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ รายงานผลการเปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ความก้าวหน้าการเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นใน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย 1) การรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 2) การรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบการประชุมปฏิบัติการ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 จังหวัดนครปฐม 3) การรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา จากผลการรับฟังความคิดเห็นทุกช่องทาง พบว่ามากกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยในหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ยกเว้นหมวด 3 ครูและบุคลากรทางการศึกษา (เห็นด้วย ร้อยละ 88) โดยอาจมีข้อสังเกตและกังวลเกี่ยวกับการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ครู คณะอนุฯ เห็นชอบในหลักการเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และให้สภาการศึกษาดำเนินตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย ให้พิจารณาและรับฟังความคิดเห็นในส่วนอื่นเพิ่มเติม พร้อมเปรียบเทียบผลดี ผลเสียของร่างกฎหมาย

จากนั้นฝ่ายเลขานุการฯ กล่าวถึงเรื่องพิจารณาต่อคณะอนุฯ 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1) หารือกรณีการจัดสรรเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถานประกอบการ ที่ประชุมพิจารณาเห็นตรงกันว่าตามกฎกระทรวงสถานประกอบการมีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนอัตราเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทของการจัดการศึกษาของสถานประกอบการ 2) ความจำเป็นในการจัดทำกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีมาตรารองรับ 2 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 12 การกำหนดสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถาบันสังคมอื่น และมาตรา 62 การตรวจสอบ ติดตาม และประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษา คณะอนุฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อเสนอต่อคณะอนุฯ ร่วมพิจารณาและขับเคลื่อนกฎหมายให้ตรงตามนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด