สกศ. ลงพื้นที่ จ.พังงา ประชุมหาแนวทางการบูรณาการความร่วมมือโดยการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ ตามแนวทางกฎหมายการศึกษาและแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
วันที่ 30 มกราคม 2567 สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การกำหนดกลไก แนวทางการบูรณาการความร่วมมือโดยการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ (จังหวัดพังงา) ตามกฎหมายการศึกษาและแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวนิรชา บัณฑิตย์ชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวต้อนรับและบรรยายพิเศษ เรื่อง การพัฒนาการศึกษาของจังหวัดพังงาตามบริบทและความต้องการของพื้นที่ ซึ่งได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดพังงาว่า มีการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดพังงา ตามแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดพังงา พ.ศ. 2566 – 2570 มีตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานที่เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายของจังหวัดพังงา โดยมีการจัดทำกองทุนพี่ร้องให้น้องได้เรียน จัดสรรทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกเดือนเพื่อให้ได้เรียนจนจบปริญญาตรี และมีข่าวดีที่มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจะส่งผลดีทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดพังงาต่อไป จากนั้น ได้รับเกียรติจาก ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุม และนายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวถึงการกำหนดกลไก แนวทางการบูรณาการความร่วมมือโดยการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ (จังหวัดพังงา) ฯ ว่า กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเป็นผู้ผลิต ควรผลิตคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น จึงต้องสร้างกลไกและบูรณาการความร่วมมือโดยการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษา ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ต่อมาได้มีการอภิปรายในหัวข้อ การกำหนดกลไก แนวทางการบูรณาการความร่วมมือโดยการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ (จังหวัดพังงา) ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายกองค์การบริหารจังหวัดพังงา ประธานหอการค้าจังหวัดพังงา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา ศึกษาธิการจังหวัดพังงา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารภาคเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารภาคประชาสังคม มาร่วมอภิปราย ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา เช่น การจัดกำลังพลให้เพียงพอต่อความต้องการของหน่วยงานในจังหวัด การส่งเสริม สนับสนุนให้คนเข้าถึงระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นประชากรในพื้นที่หรือประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำงานในจังหวัดพังงา การเสริมสร้างความเป็นมืออาชีพให้แก่บุคคลในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในจังหวัด การส่งเสริม สนับสนุน เด็กและเยาวชนในจังหวัด ภายใต้แนวคิด “เก่ง ดี และมีความสุข”
โดยการประชุมครั้งนี้กำหนดไว้ 2 วัน คือ วันที่ 30 - 31 มกราคม 2567 ในวันที่ 31 มกราคม จะมีการอภิปรายและหารือกันใน เรื่อง การจัดทำกฎหมายเพื่อการบูรณาการความร่วมมือโดยการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะดำเนินการสรุปผลและนำเรียนให้ทราบในโอกาสต่อไป