สกศ. เปิดวงรับฟังความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ณ เชียงใหม่
วันที่ 25 มกราคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ครั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ข้าราชการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ดร.นิติ กล่าวว่า Digital Transformation นับเป็นประเด็นท้าทาย เราจะทำอย่างไรให้การศึกษาของประเทศเราไปต่อ และมีความทันสมัย ในร่างแผนการศึกษาฉบับใหม่ได้มีการนำปัญหา อุปสรรค จากการติดตามและประเมินผล นำมาประกอบจัดทำจนแล้วเสร็จ สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดกรอบการศึกษาของชาติ จึงต้องมีการรับฟังการความคิดเห็น ให้เกิดความเหมาะสมต่อผู้ที่จะนำไปใช้กำหนดแผน สู่การประเมินติดตามการใช้แผน ซึ่งหากเจอความท้าทายใหม่ๆ เราจะต้องเรียนรู้ไปและปรับกันต่อเพื่อเอาไปใช้ในการปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติร่วมพัฒนาเยาวชนให้เป็นอนาคตของประเทศต่อไป
ที่ประชุมร่วมรับฟังการนำเสนอ เรื่อง "ร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...." โดย ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ กล่าวว่า การเรียนรู้ในวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เพราะฉะนั้นการศึกษาเองก็ต้องหา เครื่องมือที่ตรงจุดและเหมาะสมที่จะทำให้การศึกษาเป็นไปตามที่ทุกคนต้องการ อยากให้มองร่วมกัน รวมถึงปรับมายเซ็ตสู่การปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง
การประชุมครั้งนี้เป็นการอภิปรายกลุ่ม(Focus group discussion) โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนตามช่วงวัย 4 กลุ่ม ได้แก่ ปฐมวัย วัยเรียน วัยเเรงงาน ผู้สูงวัย โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างเข้มข้นตลอดการประชุม
ทั้งนี้สกศ. ได้กำหนดจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... ใน 4 ภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพมหานคร เพื่อนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นไปปรับปรุงแก้ไข ร่างแผนการศึกษาแห่งชาติให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและพัฒนาการของโลก ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาและคณะรัฐมนตรีต่อไป