สกศ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "การติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้"

image

วันที่ 18 มกราคม 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการประชุม พร้อมด้วยข้าราชการ วิทยากร และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครู บุคลากรทางการศึกษา เยาวชนและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใน 2 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา เลย และชัยภูมิ และภาคใต้ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา และระนอง เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาวการณ์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาสำหรับใช้เป็นข้อมูลสะท้อนสภาวการณ์การจัดการศึกษาและเพื่อประกอบการพิจารณาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

รูปแบบการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุม ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ zoom Meeting ควบคู่กับการใช้ Padlet ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับแสดงความคิดเห็นออนไลน์ โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวกับผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และปัจจัย ความท้าทายที่ทำให้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ประสบความสำเร็จ ที่ประชุมแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น และนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผลการจัดการศึกษาที่สำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 หลักการทางการศึกษาและการบริหารจัดการศึกษา อาทิ การมอบหมายบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนให้หน่วยงานทางการศึกษาและการจัดโครงสร้างหน่วยงานที่เชื่อมต่อสั่งการได้, ความต่อเนื่องในการจัดการศึกษาและการส่งต่อระหว่างเด็กในระบบและเด็กนอกระบบในห้วงเวลาเรียน, เพิ่มมาตรการ บทลงโทษผู้เรียน เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เรียน  และส่งเสริมให้มีคุณธรรมจริยธรรม 

ประเด็นที่ 2 แนวการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อาทิ หลักสูตรระบบหน่วยกิต ควรปรับเป็นหลักสูตรแบบบูรณาการ และสอดคล้องกับความต้องการผู้เรียน และกระจายอำจาจให้แก่ท้องถิ่น ให้สามารถพัฒนาหลักสูตรเองได้, การให้การช่วยเหลือกับเด็กที่ขาดแคลน ทำให้เด็กได้รับการศึกษามากขึ้น, มีหน่วยงานอี่น ๆ ในพื้นที่ ที่สามารถประเมินโรงเรียน ได้เทียบเท่ากับที่ สมศ. ดำเนินการ, มีการพัฒนาข้อสอบที่เทียบเท่ากับข้อสอบกลางที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดปัญหาของผู้เรียนด้านความสามารถทางภาษา

ประเด็นที่ 3 ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา อาทิ มีกระบวนการพัฒนานักศึกษาสู่วิชาชีพครูที่เน้นคุณธรรมจริยธรรมในระดับอุดมศึกษา, มีที่พักสำหรับบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลและคุณภาพของที่พัก, ลดภาระงานครู ให้เน้นที่การจัดการเรียนรู้, ปลูกฝังให้ครูเป็นต้นแบบของการมีคุณธรรม รักประวัติศาสตร์ ชาติไทย, มีสถาบันที่ผลิตบัณฑิตสายครูอาชีวศึกษาโดยตรง

ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย แผนการศึกษา และวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา จะนำข้อคิดเห็นในการประชุมการติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้มีความสอดคล้องและรองรับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของการศึกษาไทยในปัจจุบันได้อย่างตรงประเด็นในลำดับต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด