สภาการศึกษา ลุย Workshop ปรับกลยุทธ์ยกระดับผลการทดสอบ PISA 2025
วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ข้อเสนอการยกระดับผลการทดสอบ PISA พร้อมด้วย นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหาร ครู และบุคลาการทางการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมเรสซิเดนซ์ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า PISA หรือ โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ในทุก ๆ 3 ปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของชาติ จัดการประชุมข้อเสนอการยกระดับผลการทดสอบ PISA ในวันนี้ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง และแนวโน้มในการจัดการศึกษาของไทยว่าควรมีแนวทางในการพัฒนาการศึกษาอย่างไร เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปรับตัวได้ทัน และเป็นกำลังคนที่สำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำเสนอผลการทดสอบ PISA 2022 ปัจจุบัน PISA มีประเทศเข้าร่วมกว่า 81 ประเทศทั่วโลก ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โดย สสวท. เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ในการดำเนินการจัดสอบ PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนในการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ผลการประเมิน PISA 2022 ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 ถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพ PISA 2025 คือ การพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด
จากนั้น มีการเสวนา เรื่อง แนวทางและความร่วมมือในการยกระดับผลการทดสอบ PISA โดย ศาสตราจารย์ประสาท สืบค้า ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.กฤษฏ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดำเนินรายการโดย ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ในช่วงบ่าย สกศ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ภาคเอกชน สถานประกอบการ นักเรียน และผู้ปกครอง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นในการยกระดับผลการทดสอบ PISA โดย สกศ. จะรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์นำไปจัดทำแนวนโยบายการจัดการศึกษาของไทยให้เหมาะสม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้มีคุณภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
ดาวน์โหลดภาพเพิ่มเติมได้ที่ : https://drive.google.com/drive/folders/142v2WhM0WxDmp3cUH-OCnSw7ehEog1zb?usp=drive_link