สภาการศึกษา-UNICEF เปิดประชุมวิชาการสภาวการณ์การศึกษาไทยใน “ยุคโลกเดือด”

image

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF) วิชาการเรื่อง “สภาวการณ์การศึกษาไทยในยุค Global boiling” โดยมี ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา นางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา บุคลากรด้านการศึกษาทั้งข้าราชการ ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้เรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรม SKYVIEW Hotel Bangkok EM-District ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัลเฟซบุ๊กเพจ “สภาวะการศึกษาไทย สกศ.”

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาขอไทย และเป็นเวทีสาธารณะในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการวางแผนรับมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการศึกษา โดย ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวในช่วงเปิดการประชุมถึงวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าท่านให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันโลกของเราที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ผนวกกับสถานการณ์โลกร้อนที่ลุกลามเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global boiling) ซึ่งเราจะต้องรับมือสถานการณ์โลกด้วยการสร้างระบบการศึกษาที่ทันสมัยและเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน

แนวคิดของ UNICEF และข้อเสนอเชิงนโยบายของเยาวชนต่อการศึกษา
“การศึกษาและสิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถพัฒนาได้หากไม่ได้รับการมีส่วนร่วมของเยาวชน” ถ้อยคำในที่ประชุมของนางคยองซอน คิม สะท้อนแนวคิดการพัฒนาการศึกษาและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปของยูนิเซฟโดยเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชน นอกจากนี้นางคยองซอน คิมได้เสนอ 3 ประเด็นสำคัญของภาวะโลกเดือดต่อประเทศไทย ดังนี้ 1) เราจะต้องส่งเสริมการทำงานเพื่อรับมือและปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะจากสถิติและการวิจัยอย่าง CCRI พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่สุดต่อการเกิดภัยธรรมชาติ 2) ผลการสำรวจอื่นอย่าง MICS และ PISA เช่น  สะท้อนมิติการเรียนรู้ของไทยในด้านต่าง ๆ ของเด็กนั้นลดลง ทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองมีความเห็นผิดหวังต่อระบบการศึกษา เราควรรับมือโดยเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency - Based Curriculum : CBC) และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skills) และ 3) การร่วมมือของครั้งนี้จะเป็นนิมิตหมายอันดีในการพัฒนาการศึกษาไทยไป หวังสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนอัจฉริยะ (Smart School) โดยจะทำให้เยาวชนเกิดทักษะสีเขียว (Green Skills)  และทรรศนะแห่งความตระหนักรู้เพื่อรักษาโลก

ต่อไปมีตัวแทนจากเยาวชนที่ปรึกษาของโครงการ UNICEF กล่าวข้อเสนอแนะทางการศึกษาจากกลุ่ม “เยาวชนเครือข่ายเยาวชนเพื่อการพลิกโฉมการศึกษาไทย” ทางทีมเยาวชนได้จัดทำและนำเสนอ “ปฏิญญาเพื่อการพลิกโฉมการศึกษา” จากการศึกษาข้อมูลจากเยาวชนเครือข่ายทั่วประเทศ ข้อเสนอแนะหลากหลายประเด็น เช่น คุณภาพทางการศึกษา สภาพแวดล้อม บุคลากรทางการศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในสถานศึกษา สุขภาพจิต การกลั่นแกล้ง ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่น่าประทับใจและสร้างแรงกระเพื่อมแห่งการพัฒนาด้วยพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้ลงมือขับเคลื่อนการศึกษาอย่างแน่วแน่

มองอดีต ปัจจุบัน สู่แนวโน้มทิศทางการศึกษาในอนาคต
ดร.อรรถพล สังขวาสี บรรยายสภาวการณ์การศึกษาของประเทศไทยที่กำลังประสบ พร้อมทั้งกล่าวถึงหน้าที่ของสภาการศึกษาในฐานะของ “เข็มทิศการศึกษา” ที่ต้องทำหน้าที่ชี้เป้า ยกระดับ และร่วมขับเคลื่อน เพื่อให้การศึกษาไทยเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะต่อภาวะโลกเดือด นอกจากนี้เลขาธิการสภาการศึกษายังนำเสนอ 6 ประเด็นทางการศึกษาที่ความสำคัญในปี 2567 ได้แก่ ภาวะโลกเดือด เศรษฐกิจสีเขียว  ทักษะแห่งอนาคต การปฏิบัติวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 PISA และ Soft Power ทุกประเด็นข้างต้นนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายต่อการจัดการศึกษาเพราะจำเป็นต้องป้อนกำลังคนคุณภาพเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แนวทางที่น่าสนใจคือ Upskill และ Reskill ซึ่งสภาการศึกษาเร่งดำเนินการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และพร้อมสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ทั้งการจัดการเรียนการสอน การทดสอบ และการประเมินผลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศพร้อมความยืดหยุ่นเหมาะสมต่อผู้เรียนตามแต่และบริบทสังคม

ช่วงสุดท้ายของการประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้เปิดเวทีการเสวนาสภาวการณ์การศึกษาไทยในยุค Global boiling จากวิทยากรภายนอก ภายในการเสวนามุ่งเน้นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดต่อการแก้ปัญหาและปรับตัวในภาวะโลกเดือดโดยเฉพาะด้านการศึกษา โดยกล่าวถึงความน่ากังวลใจของภาวะโลกเดือดในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ ภายในการเสวนาผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวคิดเชิงนโยบายว่า ควรปลูกฝั่งให้อยู่ในหลักสูตรโดยมีกิจกรรมที่เน้นย้ำเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งบูรณาการความรู้มากกว่าการท่องจำ ก่อนปิดการประชุมได้เปิด QR code เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ในระหว่างการประชุมนี้ เราจะนำข้อเสนอแนะทุกประการไปใช้ในการพัฒนาแผนการดำเนินงานต่อไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการศึกษาที่สดใสในยุคที่ท้าทาย

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด