อรรถพล บิน โรมาเนีย ร่วมประชุมการศึกษาและทักษะแห่งอนาคตในปี 2030 ครั้งที่ 5

image

 

 
ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา หัวหน้าคณะผู้แทนไทย และ นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย ดร.ศศิรัศม์ วีระไวทยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และคณะผู้แทนอาชีวศึกษา ได้เข้าร่วมประชุมการประชุมการศึกษาและทักษะแห่งอนาคตในปี 2030 ครั้งที่ 5 (5th Global Forum of Future of Education and Skills 2030) ในฐานะผู้แทนด้านการศึกษาภาครัฐของประเทศไทย ณ กรุงบูคาเรสต์ สาธารณรัฐโรมาเนีย ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2566 โดยมีข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จำนวน 7 คน เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ 
 
โครงการ “OECD Future of Education and Skills 2030” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันวิเคราะห์ความท้าทายด้านการศึกษาในระยะยาวที่ผู้เรียนจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ และมีเข็มทิศเพื่อกำหนดทิศทางการเรียนรู้ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุข (Well-being) ของนักเรียน ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยผู้เข้าร่วมโครงการจะร่วมกันอภิปรายและวิเคราะห์คุณลักษณะที่เหมาะสมกับผู้เรียนในปัจจุบัน ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยม มีการร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในเรื่องความรู้และทักษะจำเป็นเพื่อการเติบโตในอนาคต เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน การพัฒนาคุณภาพครู และการจัดการของสถาบันการศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประชุมที่ต้องการกำหนดทิศทางการศึกษาโลกและพัฒนาผู้เรียนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าในปี 2030
 
 
 เป้าประสงค์ของการประชุมการศึกษาและทักษะแห่งอนาคตในปี 2030 ครั้งที่ 5 คือการสร้างวิสัยทัศน์และพัฒนารายละเอียดของเข็มทิศการเรียนรู้ (Learning Compass 2030) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายหลังการระบาดโควิด 19 (Post-Pandemic) ให้มีความครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) เพื่อส่งเสริมการศึกษาในโลกยุคใหม่ที่มีความซับซ้อน โดยการบูรณาการเทคโนโลยี การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์วิพากย์ มิติคุณธรรมและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ การให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และกระบวนการผลิตและพัฒนาครูที่เอื้อต่อการส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนในโลกที่ซับซ้อนผันผวนอย่างมีคุณภาพไปพร้อมกัน
 
เข็มทิศการเรียนรู้ (Learning Compass) ของ OECD เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะเพื่อให้สามารถใช้นำทางในโลกที่ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนได้อย่างมีความหมายและรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการฉีกออกจากความเชื่อและกรอบแนวทางเดิมเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่มีลักษณะการสื่อสารทางเดียว โดย OECD มองว่าการเรียนรู้ที่มีความหมายและแท้จริงนั้นเกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ซ้ำ ๆ ซึ่งช่วยให้เยาวชนพัฒนาความคิดและการกระทำของตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ผ่านวงจรการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน ได้แก่ ความคาดหวัง (Anticipation) การกระทำ (Action) และการสะท้อนความคิด (Reflection) โดยมีครูและครอบครัวเป็นผู้ช่วยประคับประคอง ให้คำปรึกษา และเรียนรู้ไปด้วยกันได้
 
 
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะหน่วยงานด้านการศึกษาไทยและเข็มทิศการศึกษาของประเทศไทย ได้ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการศึกษาของประเทศในประเด็นต่าง ๆ อาทิ
(1) วิธีสร้างการคิดเชิงวิเคราะห์/วิพากษ์ (Critical Thinking) ในสาระวิชาและหลักสูตรวิทยาศาสตร์และศิลปะ
(2) ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21
(3) หลักสูตรการเรียนแบบ STEM/STEAM
(4) การใช้ Generative AI ในห้องเรียน
(5) การพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Skills)
(6) การกำหนดเข็มทิศการศึกษาเพื่อการสอนที่มีคุณภาพในโลกแห่งความผันผวน (Towards the Teaching Compass in a VUCA) ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) การฟื้นฟูภายหลังการระบาดโควิด 19 ภัยธรรมชาติ ที่เกิดจากมนุษย์ ฯลฯ โดยคำนึง 5 ปัจจัย ได้แก่ (1) สภาพแวดล้อมเพื่อสร้างครูคุณภาพ (Teacher Agency) (2) ความอยู่ดีมีสุขของครูที่ส่งผลต่อนักเรียน (Teacher Well-Being) (3) ความรู้สำหรับครู (Teacher Knowledge) (4) ทักษะครู (Teacher Skills) และ (5) ทัศนคติและคุณค่าความเป็นครู (Teacher Attitudes and Values)
 
ดร.อรรถพล สังขวาสี กล่าวถึงข้อสังเกตสำคัญจากการประชุม ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินตามนโยบายการศึกษาได้ ว่าต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ได้แก่ (1) มิติคุณค่า (Ethic/ Moral/Value) อาทิ คุณธรรมจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มิติการพัฒนาความเป็นมนุษย์ (Humanity) ทั้งในส่วนของทักษะ (Skills) ที่จำเป็น เช่น ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน การมีภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญกับความผันผวนต่าง ๆ และการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านอารมณ์และสังคม (Social-Emotional Learning) โดยมีเป้าหมายปลายทางของการศึกษาคือความอยู่ดีมีสุขของผู้เรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาและการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องร่วมกันวิเคราะห์ให้ได้ว่าความอยู่ดีมีสุขของผู้เรียนและคนในชาติคืออะไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไรให้ผู้เรียนและคนในชาติสามารถเดินไปถึงเป้าหมายของการอยู่ดีมีสุข ซึ่งรวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเหล่านั้นได้ (2) ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและพัฒนาครู รวมไปถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของครูที่จะส่งผลถึงคุณภาพการเรียนรู้และการบรรลุความอยู่ดีมีสุขของผู้เรียนด้วย (3) การสร้างความร่วมมือและเสริมพลังให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวและผู้ปกครอง เนื่องจากความเข้าใจและความร่วมมือของบุคคลแวดล้อมตัวเด็กจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และการอยู่ดีมีสุขของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง (4) ผลการศึกษา ข้อค้นพบ ข้อมูลใหม่ ๆ และตัวเลขสถิติขององค์กรระหว่างประเทศในการประชุม รวมถึงผลการทดสอบ PISA ที่เชื่อมโยงในบางประเด็นเข้ากับสาระสำคัญในการประชุมใน
ครั้งนี้ โดยผลลัพธ์ทางสถิติเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงแก้ไข และปฏิรูปการศึกษาในเชิงสร้างสรรค์ต่อไปได้ อาจต้องมีการทบทวนเชิงนโยบายสำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เพื่อได้ทราบข้อมูลสำคัญ การสนับสนุนด้านการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเท่าทัน
 
ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการศึกษาประเด็นเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ OECD เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำเสนอเชิงนโยบายทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด พร้อมให้ความสำคัญต่อคุณภาพของครูทั้งประเทศ เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการ และการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อไปด้วย
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด