สกศ. ลงพื้นที่เช็ก Feedback การศึกษา ต่อยอดสู่ พ.ร.บ การศึกษาฉบับใหม่ ครั้งที่ 1 ภาคกลาง
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 1 ภาคกลาง พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และราชบุรี ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ โรงแรมแกรนด์ อินเตอร์ โฮเทล จังหวัดสมุทรสาคร
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งเป็นยุคที่สิ่งแวดล้อมมีความผันผวน ทำให้กิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาในการพัฒนาผู้เรียนยุคดิจิทัลให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้ต้องมีการติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น สู่การจัดทำข้อเสนอประกอบการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ อันเป็นกฎหมายแม่บทด้านการศึกษา ที่สามารถพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้อย่างตรงประเด็น รวมถึงมีความสอดคล้องกับการก้าวสู่สังคมสูงวัย และสภาวการณ์ทางการศึกษาให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน
วงประชุมร่วมรับฟังการบรรยาย “ทิศทาง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ” โดย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ กล่าวถึง การพัฒนาของการศึกษาไทยที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแนวทางยกระดับการศึกษาไทยในอนาคต ที่ต้องเน้นการจัดการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน หลักสูตรการศึกษาต้องครอบคลุมทั้งส่วนที่จำเป็นและส่วนที่เป็นไปตามความสนใจของผู้เรียน รวมถึงสร้างการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
จากนั้นมีการแบ่งกลุ่ม Focus Group ระดมความคิดเห็นจาก ครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา เกี่ยวกับการติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาเพื่อจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ โดยมี 3 ประเด็น คือ 1) ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 2) ครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษาที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน 3) ระบบนิเวศและทรัพยากรทางการศึกษาที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน เพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สกศ. ได้วางเดินหน้ารวบรวมความคิดเห็นในระดับภูมิภาคครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอประกอบการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้มีความสมบูรณ์ และพร้อมขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ของโลกต่อไป