ร่วมปรับทิศชี้ทางการศึกษาไทย : สกศ. เปิดเวทีรับฟังความเห็น ต่อ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....

image

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... (ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 660/2564) โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายโกวิท คูพะเนียด ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม ไมด้า แกรนด์ ทวารวดี นครปฐม จังหวัดนครปฐม

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในพิธีเปิดการประชุมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกตั้งแต่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ปรับตัวนำระบบออนไลน์เข้ามาร่วมจัดการศึกษา ลักษณะดังกล่าวเป็นหนึ่งในสภาวะของโลกที่ผันผวนและสลับซับซ้อน (VUCA World) ภายหลังไม่นานมานี้ได้ปรากฏสภาวะการณ์ของโลกที่มีความเปราะบางยิ่งขึ้น (BANI World) นอกจากนี้ยังมีประเด็นภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่ต้องคำนึงถึงในฐานะพลเมืองโลก ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการร่วมแสดงความเห็นต่อ ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... (พ.ร.บ.) นั้นจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเร่งขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ของโลก

ที่ประชุมร่วมกันรับฟังการอภิปรายฐานคิดของการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดย ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ตลอดทั้งภาพรวมของขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมรับทราบและเข้าใจในตัวเนื้อหาก่อนที่จะเริ่มการรับฟังความเห็นต่อไป

 

          “เคยคิดว่า พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 สมบูรณ์มาก ด้วยมีขั้นตอนและกฎหมายที่เชื่อมโยงกันดี แต่เมื่อนำมาใช้กลับพบว่าคุณภาพการศึกษาถดถอย ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีข้อสงสัยว่าอาจเกิดจากกฎหมายหรือไม่ พ.ร.บ. ฉบับ ‘42 นั้นมีเจตนารมณ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพสูง แต่กฎหมายลูกต่าง ๆ บดบังเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่ให้ดูไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน” ดร.อำนาจ กล่าว

 

จากนั้น ในช่วงบ่ายที่ประชุมได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ต่อ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดย นายโกวิท คูพะเนียด ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายการศึกษา สป.ศธ. ได้เกริ่นถึงข้อสังเกตและประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจใน ร่าง พ.ร.บ. ฯ โดยอภิปรายและร่วมแสดงความเห็นไปตามหมวดกฎหมายทั้งหมด 7 หมวดได้แก่ หมวดที่ 1 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา หมวดที่ 2 สถานศึกษา หมวดที่ 3 ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา หมวดที่ 4 การจัดการศึกษา หมวดที่ 5 หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หมวดที่ 6 แผนการศึกษาแห่งชาติและทรัพยากรเพื่อการศึกษา และหมวดที่ 7 คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ สำหรับการแสดงความเห็นที่ประชุมทั้งหน่วยงานราชการ ประชาชน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันระดมพลังสมองต่อหมวดกฎหมายทั้งเจ็ด บรรยากาศการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกระตือรือร้นและพิถีพิถันนี้ทำให้เกิดทรรศนะและกรณีศึกษาอันหลากหลายต่อร่าง พ.ร.บ. ฯ 

สกศ. ขอขอบคุณทุกความคิดเห็นอันล้ำค่าและมีประโยชน์ยิ่งต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ ด้วยข้อมูลเชิงลึกจากทุกท่าน สกศ. จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและกระบวนการนิติบัญญัติ เราจะร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทยเพื่ออนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด