สกศ. X มทร.ธัญบุรี พัฒนาแพลตฟอร์ม Credit Bank System ขับเคลื่อนการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่

image

 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิด เรื่อง การศึกษาความต้องการในการใช้งานแพลตฟอร์มระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ พันธ์ลำเจียก ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รศ.ดร.ปริญญา มีสุข หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ว่าที่ร้อยเอกสาคร กิ่งจันทร์ ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โรงเรียน ผู้ประกอบการภาคเอกชน ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหงพลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม WebEx

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านโครงสร้างประชากร การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ถือเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาการศึกษา โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการพัฒนาศักยภาพหรือยกระดับทักษะของคนคือ 1) การเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตลอดเส้นทางการศึกษา 2) มีระบบและกลไกที่เอื้อเปิดช่องทางหรือขยายโอกาสให้ทุกกลุ่มได้เข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพเมื่อพร้อม และ 3) เร่งเตรียมความพร้อมในการผลิตและพัฒนาคน ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้นำผลการเรียนรู้และประสบการณ์การทำงาน มาพัฒนาเสริมสร้างทักษะ Reskill-Upskill-Newskill ตอบโจทย์สู่การยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพแรงงาน ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจได้ในอนาคต


สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม Digital Credit Bank System: DCBS หรือ ระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ เทียบโอนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ รวมถึงเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อการสร้างเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ตอบโจทย์การมีอาชีพและการมีงานทำ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้คัดเลือก จ.ปทุมธานี และ จ.ลำพูน เป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด โดยได้วิเคราะห์ความต้องการใช้งานแพลตฟอร์ม รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความต้องการ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการใช้งานแพลตฟอร์มจากสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อจัดทำคู่มือการใช้งานแพลตฟอร์มฯ อันเป็นการขับเคลื่อนระบบ Credit Bank ของประเทศไทยสู่การปฏิบัติ และผลักดันไปสู่การดำเนินงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนวทางในการขยายผลการดำเนินงานสู่จังหวัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้งานแพลตฟอร์มระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มีการปฏิบัติที่เป็นไปได้ ควรเน้นให้มีการใช้งานที่ง่าย มีรายการข้อมูลรายวิชาที่ต้องการเทียบโอนที่ชัดเจน สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างอาจารย์ผู้สอนและวิชาที่เปิดสอน รวมถึงสามารถเชื่อมต่อระหว่างระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติกับระดับจังหวัดและฐานข้อมูลจังหวัดอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ มีประสิทธิภาพ และเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด