สกศ. ร่วมกับโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตาม NQF มุ่งเน้นให้ได้รับคุณวุฒิการศึกษาควบคู่การรับรองมาตรฐานอาชีพ

image

 

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ และกล่าวเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ” โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดการประชุมดังกล่าว ในวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และมอบหมายให้ ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (สกช.) ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ ดร.ศรายุทธ ทองอุทัย พร้อมด้วยนายรังสิทธิ์ สำราญ และนายนที ราชฉวาง ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) และนางบุษกร เสนีย์โยธิน ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) ร่วมเป็นวิทยากร มีครูอาจารย์โรงเรียนพระดาบสฯ ผู้บริหารและบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดยะลา วิทยาลัยเทคนิคยะลา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา เข้าร่วมการประชุม

ในการประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายมัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้เกียรติกล่าวบรรยาย “แนวนโยบายของกระทรวงแรงงานในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย” พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน (นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์) หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ) และผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน (นายโอวาท ทองบ่อมะกรูด) ร่วมเสวนาแนวทางร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงาน/สถานศึกษาในพื้นที่ในการนำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาใช้ในการพัฒนากำลังคนของประเทศ


โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสถานศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิพระดาบส จัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพเพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้แก่ผู้เรียนจากพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล เปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพช่างอุตสาหกรรม (หลักสูตร 1 ปี) ใน 4 สาขา ได้แก่ (1) ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ (2) ช่างซ่อมรถยนต์ และซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตร (3) ช่างเชื่อม และ (4) ช่างไฟฟ้า มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับโอกาสทางการศึกษา มีอาชีพ และมีรายได้ โดยผู้เรียนต้องเรียนเตรียมช่างพื้นฐาน (เครื่องกลเบื้องต้น ช่างยนต์เบื้องต้น ช่างเชื่อมเบื้องต้น ช่างไฟฟ้าเบื้องต้น และช่างก่อสร้างเบื้องต้น) พร้อมการเรียนทักษะชีวิต เป็นเวลา 5 เดือน ก่อนที่จะเลือกเรียนวิชาชีพเฉพาะ จำนวน 3 เดือน ฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 3 เดือน และเตรียมความพร้อมก่อนการทำงาน และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 1 เดือนก่อนสำเร็จการศึกษา โดยที่ผ่านมาจัดการเรียนการสอนไปแล้ว 12 รุ่น ผู้เรียนทุกคนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 1 ในสาขาที่เลือกศึกษา และได้รับใบรับรองเพื่อไปประกอบอาชีพ 

การประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นการสร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพของโรงเรียนพระดาบสให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและคุณวุฒิวิชาชีพของ กพร. และ สคช. และการประชุมกลุ่มตามสาขาวิชา เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบสมรรถนะในมาตรฐานอาชีพของ สคช. มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของ กพร. กับหลักสูตรเดิมที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอน และนำเสนอการนำมาตรฐานอาชีพจากทั้ง 2 หน่วยงานมาปรับในหลักสูตรเพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัย และผู้เรียนสามารถได้รับคุณวุฒิการศึกษา (ประกาศนียบัตร) จากโรงเรียนพระดาบสฯ ควบคู่รับใบรับรองมาตรฐานอาชีพ จากทั้ง 2 หน่วยงานในอนาคต

การบูรณาการความร่วมมือดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ) ในการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพ ลดระยะเวลาในการศึกษา มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยหลักสูตรวิชาชีพดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมถึงมีโอกาสในการเข้ารับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด