สกศ. X สป.ศธ. ลุยจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่องตอบโจทย์บริบทเชิงพื้นที่
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง แนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น 2 อาคาร 1 สกศ. ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม WebEx
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา สกศ. ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัด เพื่อศึกษาแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในพื้นที่ 9 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสระแก้ว จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสระบุรี โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การสร้างความรู้ความเข้าใจ และระยะที่ 2 การจัดแผนการศึกษาจังหวัดทั้ง 9 แห่ง เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับพื้นที่ให้ตอบโจทย์ความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม สามารถนำไปต่อยอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการศึกษาชาติและพัฒนาประเทศไทยต่อไป
ที่ประชุมร่วมกันรับฟังการชี้แจงแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดในพื้นที่ 9 จังหวัดนำร่อง โดย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา โดยในปี 2567 สกศ. จะดำเนินงานต่อเนื่องในระยะที่ 2 การจัดแผนการศึกษาจังหวัด กำหนดแผนและขอบเขตการดำเนินงานเพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด ประสานสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนเงินงบประมาณให้สำนักงานศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่องใช้ในการดำเนินการจัดทำรายงานผลวิเคราะห์ต้นทุน/ศักยภาพจังหวัดและแผนการศึกษาจังหวัดตามเป้าหมายวิสัยทัศน์ของการพัฒนาการศึกษาให้ครอบคลุมหลากหลายด้าน ได้แก่ ด้านสังคม อาทิ จำนวนประชากรแต่ละช่วงวัย อัตลักษณ์จังหวัดและวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ อาทิ รายได้จังหวัด ภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ด้านเกษตรกรรม อาทิ จำนวนแรงงาน ความต้องการแรงงาน ด้านการศึกษา อาทิ จำนวนประชากรวัยเรียน สถานศึกษา และผลการทดสอบ และด้านสาธารณสุข อาทิ การวางแผนครอบครัว และการรักษาพยาบาล รวมถึงวิเคราะห์ Gap Analysis เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างหรือช่องว่างของสภาพปัจจุบัน และเป้าหมายการศึกษาที่ต้องการไปถึง โดย สกศ. จะติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของทั้ง 9 จังหวัดนำร่องเป็นระยะ ๆ รวมถึงให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปกลไกการมีส่วนร่วมของ (ร่าง) แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด เพื่อจัดทำเป็นแผนการศึกษาจังหวัดฉบับสมบูรณ์ต่อไป