สกศ. เตรียมลุยวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาเพื่อจัดทำ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่

image

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ดร.ภูมิภัทร เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาเพื่อจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วย นางศิริพร ศริพันธ์ อดีตที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะทำงาน ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Zoom

ที่ประชุมร่วมพิจารณาแนวทางและแผนการดำเนินงานของคณะทำงานติดตามและวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาเพื่อจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ จากการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ผ่านมา พบผลลัพธ์และปัญหาในหลายด้าน เพื่อให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ มีความสมบูรณ์ และรองรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาเพื่อจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ วิเคราะห์ผลสำเร็จการจัดการศึกษาที่ผ่านมาและดำเนินการเก็บข้อมูล ใน 4 ขั้นตอน ดังนี้
         ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  2) ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 3) ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... 
         ขั้นตอนที่ 2 ทบทวนงานวิจัยทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศตามประเด็นที่บัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ. และร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ 
         ขั้นตอนที่ 3 การลงพื้นที่เก็บรวมรวมข้อมูลเชิงลึกสถานศึกษาและหน่วยงานส่วนภูมิภาค ทั้งแบบ Onsite และ Online จำนวน 5 ครั้ง 
         ขั้นตอนที่ 4 การรวบรวมข้อเสนอแนะสาระสำคัญที่ควรบัญญญัติใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยใช้เทคนิคเดลฟาย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ภาคเอกชน สมาคม และหน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษา

โดยมีข้อเสนอแนะ ให้เน้นการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริม สนับสนุน และหลักสูตรวิชาที่มีความหลากหลาย คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เสริมสร้างทักษะและพัฒนาสมรรถนะ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เน้นความชัดเจนสำหรับการศึกษาทางเลือก และให้มีหน่วยงานในการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะรวบรวมทุกความคิดเห็นและข้อเสนอไปวิเคราะห์เพื่อนำมาประกอบการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้เท่าทันสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและเท่าเทียมระดับนานาชาติต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด