สกศ. เช็กฟีดแบ็กผลการจัดการศึกษาตามพ.ร.บ.’42 ขยายผลสู่การขับเคลื่อนฉบับใหม่ให้ตรงจุด
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมฟังความคิดเห็น เรื่อง ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลาการทางการศึกษา ผู้แทนจากองค์กรภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนกว่า 60 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากบริบทการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมในปัจจุบัน โลกของอาชีพต้องปรับตัว โลกของการศึกษาก็ต้องปรับตาม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ได้ดำเนินการสังเคราะห์พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับผ่านการพิจารณาของสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานด้านการศึกษาทุกภาคส่วน โดยนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์ไปประกอบการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ต่อไป
ที่ประชุมร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ทั้งสิ้น 9 ประเด็น ดังนี้
- ประเด็นที่ 1 เป้าหมายของการจัดการศึกษา/สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา
- ประเด็นที่ 2 สถานศึกษา/การบริหารสถานศึกษา
- ประเด็นที่ 3 ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา
- ประเด็นที่ 4 ระบบการศึกษา/แนวทางการจัดการศึกษา/หลักสูตรและการประเมินผล
- ประเด็นที่ 5 หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการกํากับ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษา (การจัดการศึกษาของภาครัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ภาคเอกชน)
- ประเด็นที่ 6 การพัฒนาคุณภาพการศึกษา (มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา)
- ประเด็นที่ 7 ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษา
- ประเด็นที่ 8 แผนการศึกษาแห่งชาติและทรัพยากรเพื่อการศึกษา/การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
- ประเด็นที่ 9 คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะ ให้เน้นการจัดภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและชุมชน เพื่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริม สนับสนุน ระบบกำกับสถานศึกษา และหลักสูตรวิชาที่มีความหลากหลาย เน้นสิ่งที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนให้มีทักษะและพัฒนาสมรรถนะได้ดียิ่งขึ้น ให้ทบทวนนิยามและการตีความการจัดการศึกษาใหม่เพื่อความชัดเจนต่อการดำเนินการในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะรวบรวมทุกความคิดเห็นและข้อเสนอไปวิเคราะห์และสังเคราะห์สำหรับประกอบการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้เท่าทันสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกและทัดเทียมระดับนานาชาติต่อไป