“เพิ่มพูน” นำประชุมสภาการศึกษา ‘นัดแรก’ หาแนวทางขับเคลื่อนกฎหมายและทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทย
วันที่ 27 ตุลาคม 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการให้เกียรติเป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2566 พร้อมด้วย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กรรมการและเลขานุการ พร้อมคณะกรรมการสภาการศึกษาเข้าร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx
รมว.ศึกษาธิการ เผยผลการประชุมสภาการศึกษาโดยที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้
แนวทางการขับเคลื่อน (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
คณะกรรมการสภาการศึกษาเห็นชอบเสนอใช้ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... เดิม ที่มีสาระมุ่งดำเนินการแก้ไข ได้แก่ คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และสร้างธรรมาภิบาล ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ต่อคณะรัฐมนตรีตามความเห็นของอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อน (ร่าง) พระราชบัญญัติดังกล่าวสู่กระบวนการตรากฎหมายต่อไป โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป ก่อนขับเคลื่อนกฎหมายลำดับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนตรากฎหมายให้สอดรับกับระยะเวลาการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
ข้อหารือ กรณีพระสงฆ์ขออนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
คณะกรรมการสภาการศึกษามอบหมายให้ สกศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักพระพุทธศาสนา ร่วมดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. 2566 ต่อไป
ฉากทัศน์แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการศึกษา พ.ศ. 2570
คณะกรรมการสภาการศึกษาเห็นชอบฉากทัศน์แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการศึกษา พ.ศ. 2570 โดยใช้วิธีการคาดการณ์อนาคตในรูปแบบฉากทัศน์ (Scenario) เพื่อคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต พ.ศ. 2570 ทั้ง 4 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 เรียนดี มีความสุข แข่งขันได้ เป็นฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ คือ ครูและผู้บริหารได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น และเน้นสมรรถนะเป็นหลัก นโยบายและแผนทางการศึกษามีความต่อเนื่องจะได้รับการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษา รูปแบบที่ 2 ลดเหลื่อมล้ำ ลดคุณภาพ ลดทักษะ เป็นไปได้กรณีที่ 1 คือ ครูและผู้บริหารไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ หลักสูตรการศึกษามีความแข็งตัว และเน้นความรู้เป็นหลัก ขณะที่นโยบายและแผนทางการศึกษามีความต่อเนื่องจะได้รับการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษา รูปแบบที่ 3 เชิงพื้นที่ เชิงนวัตกรรม เชิงโอกาส เป็นไปได้กรณีที่ 2 คือ ครูและผู้บริหารได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ และมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น และเน้นสมรรถนะเป็นหลัก ขณะที่นโยบายและแผนทางการศึกษาไม่มีความต่อเนื่องและไม่ได้รับการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ ตลอดจนไม่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษา รูปแบบที่ 4 ไม่ยืดหยุ่น ไม่ปลอดภัย ไม่มีงานทำ เป็นฉากทัศน์ที่ไม่พึงประสงค์ คือ ครูและผู้บริหารไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ และหลักสูตรการศึกษามีความแข็งตัว และเน้นความรู้เป็นหลัก นโยบายและแผนทางการศึกษาไม่มีความต่อเนื่องและไม่ได้รับการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ ตลอดจนไม่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษา ทั้งนี้ขอให้ สกศ. ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะในแต่ละรูปแบบ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป
ดาวน์โหลดภาพเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์: https://drive.google.com/drive/folders/1TReLshTWsCDrH0-kwtr27Z8wnHjv9g4q?usp=drive_link