สกศ. ผนึกกำลัง อพ.สธ. เดินหน้าแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพระราชดำริ ฯ
วันที่ 25 กันยายน 2566 นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1/ 2566 พร้อมด้วย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ผู้แทนจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
สกศ. ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมจัดทำและพัฒนาแผนแม่บท สนับสนุนและขับเคลื่อนแผนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุกปีภายใต้แนวทางการดำเนินงานของ อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) ทั้ง 3 กรอบหลัก ได้แก่ 1) กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร 2) กรอบการใช้ประโยชน์ทรัพยากร และ 3) กรอบการสร้างสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร
ที่ประชุมได้ทบทวนและปรับแผนโครงการที่ดำเนินงานในแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด ของ สกศ. (อพ.สธ. - สกศ.) โดยมุ่งเน้นประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิในภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญา ตัวอย่างแนวทางการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของสถานศึกษาและครูภูมิปัญญาไทย การศึกษาปัจจัยความสำเร็จการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนของสถานศึกษาต้นแบบ อพ.สธ. และยังมุ่งเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำ
โดยในปี 2567 นี้ สกศ. มีแผนจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและนวัตกรรมของสถานศึกษา ศูนย์การเรียน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญาและตัวอย่างแนวทางพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของสถานศึกษาและครูภูมิปัญญาไทย และกิจกรรมการจัดทำหลักสูตรบูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญา แนวทางการจดสิทธิบัตร และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับครูภูมิปัญญาไทย ทั้งนี้ สกศ. รวบรวมข้อมูลสำหรับเป็นฐานข้อมูลครูภูมิปัญญาไทย จัดทำเป็นรายงานผลและคู่มือเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยประชนชนสามารถนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาไปพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต