สกศ.ลงพื้นที่เมืองพระปฐมเจดีย์ ระดมไอเดีย เพื่อกำหนดอนาคตการปฏิรูปการศึกษาไทย

image

วันที่ 22 กันยายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษาได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เรียนรู้อดีตเพื่อกำหนดอนาคตการปฏิรูปการศึกษา (ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....) ณ โบ๊ทเฮ้าส์ บูทีค ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา นิติกรจากพื้นที่จังหวัดนครปฐมและใกล้เคียง

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง กฎหมายการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศไทยว่า การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกท่านทั้งในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ จะยังไม่บรรลุผล กระบวนการการจัดการศึกษาจึงยังต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้มีสาระบางประการที่มีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อยู่ นอกจากนี้ ปัญหาของระบบการจัดการศึกษาที่พบ คือ หน่วยงานภายในของกระทรวงศึกษาธิการขาดระบบการทำงานที่เชื่อมโยงกัน เช่น เรื่องการจัดการศึกษาของแต่ละหน่วยงานเกิดปัญหาการแย่งผู้เรียนกัน เป็นต้น ทั้งได้เน้นย้ำถึงแนวทางและข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาว่า ควรมีระบบ Coaching อยู่ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. มีระบบรับรองมาตรฐานอาชีพในระบบการจัดการอาชีวศึกษา และการจัดตั้งธนาคารเครดิตแห่งชาติจะเป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบการจัดการศึกษา และการโอนผลการเรียนในกรณีต้องออกจากสถานศึกษาสามารถเอาผลการเรียนมาฝากไว้ที่ธนาคารเครดิตแห่งชาติได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการบริหารของรัฐบาล และพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

และได้รับเกียรติจากวิทยากร นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. นายอาทร ทองสวัสดิ์ นายวีระ พลอยครบุรี และนายโกวิท คูพะเนียด ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมอภิปรายเรื่อง เรียนรู้อดีตเพื่อกำหนดอนาคตการปฏิรูปการศึกษา (ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....) ในหลายประเด็น อาทิ นโยบายเรียนดีมีความสุขของ รมว.ศธ. คนใหม่น่าจะเหมาะสมกับสภาพการจัดการศึกษาในปัจจุบัน หน้าที่ของ รมว.หรือ รมช. ของกระทรวงศึกษาธิการ ควรให้ความสำคัญกับนโยบายเพื่อนำสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาต้องดำเนินการตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 54 “เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และมาตรา 54 วรรคสอง “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ นายสวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ยกตัวอย่างประเทศจีนที่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้เพราะให้ความสำคัญในด้านการศึกษา และการจะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ในการกำหนดทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการศึกษาต้องเห็นพ้องกัน นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า การจัดการศึกษาควรให้ความสำคัญกับระบบการประเมินคุณภาพการศึกษา และครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องมีความรู้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ เช่น พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง เพื่อป้องกันการถูกดำเนินคดีและการดำเนินการทางวินัย การดำเนินการต่าง ๆ ต้องกระทำโดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด