สกศ. จัดประชุมหารือแนวทาง มุ่งสร้างผู้เรียนกลุ่มเปราะบางเติบโตบนเวทีโลก
วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง “สภาวการณ์ โอกาส และศักยภาพของผู้เรียนกลุ่มเปราะบาง เพื่อการเติบโตบนเวทีโลก (กลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางการศึกษา) ” พร้อมด้วยนางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา และ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การยูเนสโก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กรมสุขภาพจิต ร่วมประชุม ณ โรงแรมใบหยกสกาย กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook เพจ "สภาวะการศึกษาไทย สกศ." โดยเพจ “OEC News สภาการศึกษา” และ “ข่าวสภาการศึกษา” ร่วมแชร์
ที่ประชุมร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ “ทิศทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความจำเป็นพิเศษที่สอดกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)” โดยนางสาวโศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและพัฒนาทักษะ (EISD) UNESCO นางสาวโศวิรินทร์ กล่าวว่า ทิศทางการจัดการศึกษาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความยืดหยุ่น เน้นการศึกษาตลอดชีวิตอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่การจัดการศึกษาในระบบเท่านั้น จากการสำรวจพบว่าการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กไทย(Out of School) อาจส่งผลต่อ GDP ของประเทศไทยลดลงถึง 1.7% ในอนาคต นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประเด็นสำคัญ เช่น ความเป็นพลเมืองโลก การส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาในสถานประกอบการ เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning city) ทักษะด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green job) ในช่วงท้ายผู้บรรยายได้กล่าวเพิ่มเติมเรื่องการศึกษาของผู้พิการโดยเฉพาะเรื่องเพศศึกษาในผู้พิการ ที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากรที่มีความเข้าใจและการสื่อสาร
การเสวนา เรื่อง “สภาวการณ์ ความต้องการ และการเตรียมพร้อมสู่อนาคตของผุ้เรียนกลุ่มเปราะบาง เพื่อการเติบโตบนเวทีโลก” นายสุรชัย สุขเขียวอ่อน หรือครูอ๊อดบ้านนกขมิ้น ผู้ฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อเด็กข้างถนน ด้วยความคิดอยากให้เด็กมีการศึกษา มีศักดิ์ศรีและมีที่ยืนในสังคม จากประสบการณ์อุปสรรคที่พบคือเด็กไม่มีใบเกิด อายุเกินระดับชั้นที่กำหนด นายสุรชัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการศึกษาควบคู่ไปกับการทำงานตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเพิ่มการเรียนแบบทวิภาคีที่มีหลักสูตรรองรับอย่างหลากหลาย และมีระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) อย่างเป็นรูปธรรม นายปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์ หรือวิน ผู้พิการทางสายตา กล่าวว่า ตนมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้พิการทางสายตาแต่ตนไม่เคยท้อแท้กับชีวิต และจากการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ทำให้สามารถเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็น AI Backend Software Developer ทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมในบริษัทร่วมกับพนักงานปกติ
สำหรับประเด็นปัญหาด้านการศึกษาสำหรับผู้พิการ นายปุณพจน์ มองว่ามี ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑) ทัศนคติการไม่ยอมรับผู้พิการในสังคมส่วนใหญ่ ๒) การศึกษาไม่เปิดกว้างเพียงพอสำหรับผู้พิการ ๓) การขาดแคลนทุนทรัพย์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนของผู้พิการเฉพาะทาง และ ๔) การต่อยอดการเรียนเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ
ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตและเพิ่มศักยภาพให้ผู้เรียนกลุ่มเปราะบางทางการศึกษาเติบโตบนเวทีโลกต่อไป