สกศ. เดินหน้ายกระดับการศึกษาไทย ด้วย Soft Power ต่อยอดอาชีพในอนาคต
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาด้วย “Soft Power และการศึกษาเชิงสร้างสรรค์” พร้อมด้วยนางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยและประเมินผลการศึกษา และนางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา อีกทั้ง นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook เพจ "สภาวะการศึกษาไทย สกศ." โดยเพจ “OEC News สภาการศึกษา” และ “ข่าวสภาการศึกษา” ร่วมแชร์
ที่ประชุมร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำเสนอ เรื่อง “ผลการดำเนินงานการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก” โดย กลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และการอภิปรายหัวข้อ “ยกระดับการศึกษาด้วยการพัฒนา Soft Power โดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ “แนวโน้มอาชีพในอนาคตกับการศึกษาไทย” โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
การยกระดับการศึกษาจำเป็นต้องคำนึงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งปัจจุบัน Soft Power ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเป็นอำนาจอ่อนที่ช่วยดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมผ่านทรัพยากรพื้นฐาน ๓ ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ สำหรับเอกลักษณ์ของประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นรากฐานที่สะท้อนผ่านอาหาร บันเทิง ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรมที่เป็นเบ้าหลอมความอ่อนน้อม ถ่อมตน ความละเมียดละไม กลายเป็น Soft Power ของไทยที่จะเป็นการสร้างสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางวัฒนธรรม และผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ในด้านการศึกษาจึงต้องพัฒนาการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ ด้วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรทางการศึกษา สู่การจัดการเรียนรู้ที่เน้นสร้างประสบการณ์ รวมทั้งต่อยอดความสามารถเดิมให้สูงขึ้น เสริมสร้างขีดความสามารถใหม่ และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนแห่งอนาคตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของชาติ จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะมาปรับใช้สำหรับการวางแผนจัดทำนโยบายการศึกษาของไทยให้มีความเหมาะสม มีคุณภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การยกระดับสมรรถนะการศึกษาต่อยอดการพัฒนา Soft Power เพื่อตอบโจทย์นโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ที่สร้างกำลังคนร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป