สกศ. เปิดฟีดแบ็กแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๕ ปีแรก ชูยกสถานะสู่แผนแม่บท ดึงทุกองคาพยพปั้นเด็กไทยสู่เวทีโลก

image


วันนี้ (๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๖) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) ร่วมประชุมสัมมนา การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ในระยะ ๕ ปีแรกของแผน (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) โดยมี ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร และถ่ายทอดสด (LIVE) ผ่าน Facebook และ YouTube “OEC NEWS สภาการศึกษา”



ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สกศ. จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.  ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการศึกษาให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันในแต่ละระดับ มุ่งพัฒนาผู้เรียนและการจัดการศึกษา แต่เนื่องจากแผนดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามผลการขับเคลื่อน เพื่อนำมาสู่การปรับเปลี่ยนแผนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นพลวัตและบริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ทั้งสถานการณ์ COVID-19 ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา การเรียนออนไลน์ และแสวงหาแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อช่วยครูให้สร้างเด็กไทยเป็นคนเก่งมากศักยภาพสู่การเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ต่อไป 


วงประชุมร่วมรับฟังการนำเสนอ “ผลการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ในระยะ ๕ ปีแรกของแผน (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔)” โดย รศ.ดร.วรรณี แกมเกตุ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ จากนั้นร่วมฟังการอภิปราย เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ โดย ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา นางกฤติยา โพธิ์เสนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต ๒ ดร.ภูมิสิษฐ์ สุคนธวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต ๑


 

เบื้องต้นพบว่า หน่วยงานต่าง ๆ มีการรับรู้ว่าตนเองมีการดําเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัด/เป้าหมายของแผนฯ โดยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ขนาดโรงเรียน และความพร้อมทางเทคโนโลยีส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนตามเป้าหมายของแผนฯ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลรายบุคคล (Big Data) ของแต่ละหน่วยงานยังไม่มีการเชื่อมโยงกัน และการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงอัตราค่าตอบแทนบุคลากรผู้สอนเฉพาะทางยังมีความเหลื่อมล้ำกับภาคเอกชนสูง จึงทำให้เกิดภาวะ "สมองไหล" สกศ. จึงจะปรับบทบาทสู่การทำงานเชิงรุก ช่วยส่งเสริมการติดตามผลการใช้แผนฯ และป้อนข้อมูลกลับให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานการศึกษา รวมถึงสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เพื่อให้นำข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานมาร่วมปรับเกณฑ์การประกันคุณภาพให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา 

 


นอกจากนี้ ยังเสนอให้ควรพิจารณาสถานะของแผนการศึกษาแห่งชาติให้เป็นแผนระดับ ๒ (แผนแม่บท) หรืออาจเสนอรัฐบาลให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเร่งปฏิบัติให้เกิดผลตามเป้าหมาย และนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณที่เชื่อมโยงกับแผนฯ ขับเคลื่อนการดำเนินงานของแผนฯ ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค สำหรับการติดตามผลในระยะต่อไป ที่ประชุมมีข้อเสนอให้ปรับปรุงตัวชี้วัดแบบ KPIs เป็นตัวชี้วัดแบบ OKRs โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้ได้คำตอบในเชิงการตัดสินใจนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษามากที่สุด 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด