ดร.สุเทพ นำทีม สกศ. ลุยภาคกลางตอนล่าง ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย เดินหน้ารับฟังสภาวการณ์การศึกษาเชิงพื้นที่

image

.
วันนี้ (๒๗ เมษายน ๒๕๖๖) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "สภาวการณ์การศึกษา ปี ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๒ ภาคกลางตอนล่าง กลุ่มจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินและการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวจุไรรัตน์​ แสงบุญนำ) อดีตผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์) อดีตผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางขนิษฐา ห้านิรัติศัย) พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้บริหารการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานทางการศึกษา เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กว่า ๑๐๐ คน ณ โรงแรมเซ็นทารา บายเซ็นทารา ชำอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี
.


ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุค BANI World ซึ่งเป็นโลกที่เปราะบางมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาสามารถดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการกำหนดนโยบายทางการศึกษาที่มีคุณภาพ รองรับ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นจากการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายทางการศึกษา สำหรับการจัดทำสภาวการณ์การศึกษา ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตและปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาพยากรณ์และกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในอนาคต โดยกำหนดจุดเน้นที่การศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลแบบ Bottom Up เป็นการเก็บข้อมูลจากส่วนภูมิภาคและนำข้อมูลไปสู่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษากับทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ สามารถสะท้อนข้อมูลจากผู้ปฏิบัติและบริบทพื้นที่ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ประกอบอาชีพในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องวิเคราะห์ว่าในการพัฒนาการศึกษาสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดได้อย่างไร ซึ่งสกศ. จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และนำไปสู่การจัดทำแผนการศึกษาในอนาคตต่อไป
.
นางสาวจุไรรัตน์​ แสงบุญนำ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษายุคใหม่จำเป็นต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง สถานศึกษาต้องปรับรูปแบบ โรงเรียนอาจต้องยุบรวมมากขึ้นเนื่องจากนักเรียนน้อยลง สถาบันอุดมศึกษาอาจลดลง ทั้งหมดคือปัญหาที่ต้องรีบเร่งแก้ไข สกศ. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายด้านการศึกษา ได้จัดทำ เอกสาร ข้อมูลทางวิชาการ และงานวิจัยจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนได้จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากการระดมสมอง ดังนั้น ความคิดเห็นจากทุกท่านมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง เพื่อ สกศ. จะนำไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อีกทั้งทุกท่านสามารถนำไปต่อยอดใช้อ้างอิงในการทำงานวิจัย ศึกษาต่อ และทำผลงานวิชาการได้ 
.
นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ในฐานะองค์กรหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษา มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา ซึ่งจะเน้นศึกษา วิเคราะห์ ติดตามความเคลื่อนไหว และรายงานสภาวการณ์ด้านการศึกษาของประเทศ รวมทั้งพยากรณ์แนวทางและทิศทางการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และรายงานสมรรถนะด้านการศึกษาของประเทศไทยในระดับนานาชาติ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งยังรองรับสภาวการณ์และความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน 
.
สำหรับ การประชุมครั้งนี้ ยังมีกิจกรรมประชุมกลุ่มย่อย เพื่อวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา ความท้าทาย เป้าหมาย และประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษาที่สำคัญซึ่งส่งผลกระบบต่อการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่ โดยที่ประชุมร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง ข้อค้นพบที่ได้ อาทิ ๑) ในโลกดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการขาดการกลั่นกรองความคิด หลงเชื่อสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย จึงควรมีการจัดการเรียนการสอนที่สร้างเด็กให้มีคุณธรรม จริยธรรม และการรู้เท่าทันสื่อ ๒) การจัดการศึกษาไม่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ ควรมีหลักสูตรที่ตอบสนองและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ๓) ภารกิจครูที่มีมากกว่าการสอน และครูไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถทุ่มเทกับการสอนและไม่มีเวลาติดตามเด็กที่หายไปหรือออกกลางคัน ๔) โครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการมีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงบ่อย ๕) ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ๖) ควรพัฒนาครูให้มีทักษะและความรู้เกี่ยวกับการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ  หลังจากนั้น มีกิจกรรมกลุ่มย่อยเพื่อการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอในการจัดการศึกษาหลังแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ใน ๓ ประเด็นสำคัญ คือ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา การผลิตและพัฒนาครู และการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ข้อค้นพบที่ได้ อาทิ ๑) ควรสนับสนุนงบประมาณที่เกี่ยวกับ ICT ให้สามารถจัดการศึกษาออนไลน์ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ ๒) ควรเน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ๓) การผลิตครู ควรให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ 
.
นอกจากนี้ ในระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ เมษายน ๒๕๖๖ มีการลงพื้นศึกษาดูงานที่โรงเรียน ๔ แห่ง ที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านสภาวการณ์ทางการศึกษา ได้แก่ ๑) โรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล ๒) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๗ ๓) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และ ๔) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรี
.
สำหรับ การจัดประชุมและลงพื้นที่ศึกษาดูงานครั้งนี้ จัดโดยสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะทุกประเด็นที่ได้รับเพื่อนำไปวิเคราะห์ และใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาการศึกษาต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด