สกศ.ถกเข้มปรับฟอร์มเก็บข้อมูลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ กางโรดแมปสำรวจทั่ว ๔ ภูมิภาค

image

วันนี้ (๕ เมษายน ๒๕๖๖) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องสิปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

.

.

ที่ประชุมได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลฯ โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานย่อยในระดับภูมิภาค การจัดทำแบบสำรวจข้อมูลโดยใช้ Google Form เพื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก ช่วยกระจายแบบสำรวจได้ทั่วถึง และเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง สกศ. จึงได้ขอรับการพิจารณารับรองจริยธรรมการวิจัยในคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (Central Research Ethics Committee : CREC) ทั้งนี้ ใบรับรองดังกล่าวครอบคลุมโครงการวิจัยในด้านสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และแบบสำรวจอื่น ๆ ของการเก็บข้อมูลในครั้งนี้

.

.

นอกจากนี้คณะทำงานฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาแบบสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth Interview) สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้เรียน และผู้ปกครอง รวมถึงประเด็นสนทนากลุ่ม (Focus Group)ในการประชุมปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยจะสำรวจร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการภาคในสถานศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเมษายน - กรกฎาคม ๒๕๖๖ ใน ๔ ภูมิภาค ได้แก่ ๑) ภาคเหนือ ๒) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๓) ภาคใต้  และ ๔) ภาคตะวันออก ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

.

.

การสำรวจข้อมูลมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายความร่วมมือ การพัฒนาหลักสูตรสมรรถนะพื้นฐานรายวิชาชีพ ศักยภาพทรัพยากรบุคคลเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ สื่อการสอน การนิเทศติตตาม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกอาชีพของนักเรียน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านมาประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้รูปแบบดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป

.

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด