สกศ. จัด Work Shop พัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542

image

วันนี้ วันที่ 28 มีนาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษาได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542  ณ โรงแรมรอยัล พลาคลิฟ บีช จังหวัดระยอง

.

.

นายสุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ  เรื่อง สิทธิและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แก่ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา เจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของศูนย์การเรียน บ้านเรียน บุคลากรทางการศึกษาภาครัฐ องค์กรเอกชน และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ฯลฯ ได้กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 รับฟังสภาพปัญหาการดำเนินงาน ระดมความคิดเห็นและหาแนวทางในการบริการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ โดยให้ความสำคัญกับผู้ขออนุญาต ผู้จัดการศึกษา และผู้ปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542

.

 

นายสมพงษ์ ผุยสาธรรม ผอ.สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สกศ. นายโกวิท  คูพะเนียด ผอ.กลุ่มกฎหมายการศึกษา สป.ศธ. นางสาวณัฐิกา นิตยาพร   ผอ.กลุ่มนิติการ สกศ. นายเนติ รัตนากร ผอ.กลุ่มพัฒนาและวินิจฉัยฎหมายการศึกษา นายวีระ  พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ นายสราวุฒิ แพทย์ประสาท ผู้แทนกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สพฐ. ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12  เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการศึกษา โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ สรุปได้ ดังนี้

1. บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาตามมาตรา 12 ไม่เพียงพอสำหรับถ่ายทอดให้แก่บุคลากรของศูนย์การเรียนหรือประชาชนทั่วไป

2. การตีความข้อกฎหมายเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติในการรับบุคคลเข้าศึกษาในศูนย์การเรียนยังมีความไม่ชัดเจน

3. การเรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาจากผู้เรียน ผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บได้หรือไม่ ซึ่งแนวทางปฏิบัติดังกล่าวยังไม่ชัดเจน

4. เงินอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อใช้ในการจัดการศึกษาของศูนย์การเรียนยังไม่เพียงพอ

5. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศูนย์การเรียนควรวางแผนการวัดและประเมินผลผู้เรียนร่วมกัน

6. ควรโอนอำนาจการกำกับดูแลจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดไปเป็นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

7. ศูนย์การเรียนควรเน้นการจัดการศึกษาแบบการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และนำรูปแบบการจัดการศึกษาของศูนย์การเรียนในประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา

ในช่วงบ่าย ได้เปิดให้มีการอภิปรายและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12  เพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ สรุปได้ ดังนี้

1. มาตรา 14 และมาตรา 17 แห่ง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้จัดการศึกษาตามมาตรา 12 แต่แนวทางปฏิบัติในปัจจุบันยังไม่ตอบสนองต่อแนวทางตามที่กฎหมายกำหนด จึงส่งผลให้ผู้จัดการศึกษายังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการจัดการศึกษาอย่างเป็นธรรม

2. ควรมีกลไกในการผลักดันให้ภาคธุรกิจและสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น

3. ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานผู้ปฏิบัติในเรื่องกฎกระทรวง และคู่มือประกอบการดำเนินการ ส่งผลสำคัญให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

4. ระบบการวัดและประเมินผล และหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่กำหนด ควรปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทและความต้องการของผู้จัดการศึกษาแต่ละประเภท

5. การพัฒนาผู้เรียนให้สามารถกลับมาเป็นกำลังสำคัญของสถานประกอบการ ควรสร้างความยืดหยุ่นในหลักสูตรการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ

6. การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในรูปแบบบุคคล ผู้จัดการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานด้านนโยบาย

7. หลักการเทียบเคียงอายุของผู้เรียน ไม่ควรนำมาใช้กับนิยามของ “ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา” เพราะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ในการจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน และยังไม่ตอบโจทย์การจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย

8. การกำหนดจำนวนของผู้เรียน เพื่อประโยชน์ในการขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียน ควรจะมีการควบคุมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการจัดการศึกษาในแต่ละรูปแบบ

9. มิได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้จัดการศึกษาในศูนย์การเรียนเป็นการเฉพาะดังเช่นในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของเอกชน ส่งผลให้ผู้ที่จะขอเข้าอนุญาตจัดการศึกษาที่หลากหลายและมีจำนวนมากอาจไม่มีคุณวุฒิตามความต้องการและเหมาะสมได้

10. การพิจารณาเงินอุดหนุน หรือให้สิทธิประโยชน์ในการจัดการศึกษา ควรต้องพิจารณาถึงปัจจัยร่วมอื่น ๆ เพื่อกำหนดอัตราการจัดสรรหรือสัดส่วนในแต่ละประเภทเงินอุดหนุน ที่จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เรียนในแต่ละประเภทได้อย่างแท้จริง

12. กำหนดบทบาทความรับผิดชอบที่ชัดเจนในส่วนของผู้ดูแลผู้ที่ประสงค์จัดการศึกษาตามมาตรา 12 โดยอาจให้เป็นหน้าที่ของ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สำนักงาน กศน.

13. กระทรวงศึกษาธิการควรปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยมอบความไว้วางใจให้แก่ผู้ประสงค์จัดการศึกษาของศูนย์การเรียน เนื่องจากการจัดการศึกษาโดยศูนย์การเรียนเป็นส่วนที่มาเติมเต็มการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถจัดการศึกษาให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มผู้เรียนได้

14. ควรขยายขอบเขตนิยามคุณสมบัติผู้เรียนอื่นให้สามารถเข้ารับการศึกษาในรูปแบบของศูนย์การเรียนได้นอกเหนือจากกลุ่มผู้เรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

ทั้งนี้ สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา จะดำเนินการรวบรวมสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้ เสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและการปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด