สกศ.ถกเข้มแผนการเก็บข้อมูล ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ จัดทำข้อเสนอแนวทางจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการมีงานทำ

image

วันนี้ (๒ มีนาคม ๒๕๖๖) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องสิปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

.

 

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ สภาพปัญหาและอุปสรรรค ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จและรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือของหน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

.

 

สำหรับขอบเขตการศึกษาดำเนินการตามมาตรฐานการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่มุ่งเน้นมาตรฐานใน ๓ มาตรฐาน คือ คุณภาพผู้เรียน กระบวนการบริหารและการจัดการและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นำมาใช้เป็นแนวทางการจัดทำข้อเสนอฯ แบ่งเป็น ๓ ประเด็น ได้แก่ คุณภาพตามเป้าหมายอาชีพและเส้นทางการเรียนของนักเรียน กระบวนการบริหารจัดการ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ๓ กลุ่ม คือ ผู้บริหาร ครู และผู้เรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ​ในพื้นที่ ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ๑) ภาคเหนือ ๒) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๓) ภาคใต้ และ ๔) ภาคตะวันออก ภาคกลาง และกรุงเทพฯ

.

ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินงานการเก็บรวบรวมข้อมูลการจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ จากการนำเสนอโดยคณะทำงานจากสำนักงานศึกษาธิการภาค ๒ สำนักงานศึกษาธิการภาค ๔ สำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๐ และสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๕ โดยมีแผนและเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย ๑) แบบสำรวจข้อมูลออนไลน์ จำนวน ๑๐๐ แห่ง  ๒) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และ ๓) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Focus Group) ซึ่งการเก็บข้อมูลอยู่ในระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การดำเนินงานเก็บข้อมูลต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน ควรเลือกกลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัด สพฐ. สช. สอศ. และ สถ. นอกจากนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการควรจัดให้มีระบบออนไลน์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โดยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และให้สำนักงานศึกษาธิการภาคดำเนินการต่อไป

.

ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะองค์กรนำขับเคลื่อนการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จะนำข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลผล เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการมีงานทำต่อไป โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการวางรากฐานทรัพยากรมนุษย์ เป็นการพัฒนาและยกระดับคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ พร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด