สกศ.ผุดไอเดียลงพื้นที่นวัตกรรม นำร่อง Sandbox ต้นแบบขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาสู่การปฏิบัติจริง

image

วันนี้ (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖) นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษาเข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา (คณะที่ ๕) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ โดยมี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นางประวีณา อัสโย) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม WebEx

.

การประชุมในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อพิจารณา แผน แนวทาง ประเด็นหลักในการขับเคลื่อนประจำปี ๒๕๖๖ และกรอบเวลาในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา (คณะที่ ๕) โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของอนุกรรมการฯ ในประเด็นหลัก ได้แก่

๑) มาตรฐานการศึกษาของชาติและการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ประเภท และระบบการศึกษา

๒) การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

และ ๓) ระบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ

ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานภายใต้ประเด็นดังกล่าวคือ การติดตามการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๖๗ ให้ข้อเสนอและสนับสนุนที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติให้มีความชัดเจนและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยไม่ให้ทับซ้อนกับภารกิจของคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาชองชาติฯ และให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ๖ ประการ ตัวชี้วัดที่ปรากฏในแผนฯ และผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (DOE) รวมถึงการผลักดันและเชื่อมโยงโครงการในการขับเคลื่อนมาตรฐานฯ ตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับ อาทิ โครงการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัล กลไกหนุนเสริมหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะเชิงรุก และ โครงการพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

.

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติม โดยเสนอให้นำร่องขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติฯ ในจังหวัดที่มีสมัชชาการศึกษาหรือสภาการศึกษาจังหวัด และเป็นพื้นที่นวัตกรรมที่เข็มแข็ง เช่น จังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรในการนำมาตรฐานการศึกษาชาติไปเป็นกรอบในการศึกษาเชิงพื้นที่พัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) ยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill) และเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้จริง (Newskill) รวมทั้งเสนอให้เพิ่มมิติของหลักสูตรการศึกษาในแต่ละระบบ ประสานความร่วมมือกับองค์กรเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด