เลขาฯ สกศ. เวิร์กชอปปรับกลยุทธ์นำ NQF ต่อยอดสร้างนักธุรกิจดิจิทัลรุ่นใหม่ ณ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี

image

วันนี้ (๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อน NQF สู่การปฏิบัติ ครั้งที่ ๖ ณ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร (นางนันทิชา ไวยนพ) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติเข้าร่วมหารือ ได้แก่ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม  ดร.วณิชย์ อ่วมศรี  ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) รองผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง ๕ (ดร.ศรายุทธ ทองอุทัย) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี (ดร.สาริศา พิชัยฤกษ์) และผู้อำนวยการวิทยาลัยเครือข่าย ร่วมประชุม ณ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting
 


ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ส่งเสริมให้วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ๙ แห่ง พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับ ปวช. และ ปวส. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและใช้ในการจัดการเรียนการสอนแล้ว โดยวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของสถานศึกษานำร่องของ สกศ. ที่ได้พัฒนาหลักสูตรระดับ ปวส. สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ซึ่งสาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ เป็น ๑ ใน ๗ สาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนตามมติคณะรัฐมนตรี

 

 

“การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนำไปสู่การสร้างฐานการผลิตเดียวกัน สกศ.  สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่ร่วมเป็นทีมประเทศไทย พร้อมสร้างสะพาน “เชื่อม” กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) สู่การเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) เพื่อประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายแรงงานมากฝีมือของไทยในตลาดแรงงานนานาชาติ ขณะนี้ สกศ. ได้เตรียมแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) ที่จะช่วยผลักดันให้ผู้เรียนใน ๗ สาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานระบบราง ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ได้เข้าทำงานและมีสมรรถนะเป็นที่ยอมรับในองค์กรธุรกิจของอาเซียน” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

 


สำหรับวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี เป็นหนึ่งในศูนย์บริการเครือข่ายผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM)  และได้พัฒนาหลักสูตรตาม NQF ในสาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนทั้งด้านโมบายแอปพลิเคชัน ดิจิทัลมัลติมีเดีย และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มีหลักสูตร LINE My Shop การสร้างแพลตฟอร์มร่วมกับ Lazada และการพัฒนาโปรแกรมบนสมาร์ทโฟนร่วมกับ HUAWEI Thailand เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะดิจิทัลต่อยอดสู่การประกอบอาชีพทั้งนักออกแบบเว็บไซต์ นักสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ และการเป็นนักธุรกิจด้วยร้านค้าออนไลน์ เพื่อสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี สู่การเป็นพลโลกดิจิทัลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ



จากนี้ สกศ. จะได้นำผลการประชุมทั้งในส่วนของปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงานและองค์ความรู้ที่ได้ ไปจัดทำเป็นแนวทางและคู่มือในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ให้แก่สถานศึกษาอื่น ๆ ทั้งนี้ วิทยาลัยที่ได้พัฒนารูปแบบการเรียนแล้วสามารถขอขึ้นทะเบียนการใช้หลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในฐานข้อมูลกลาง (www.thailandnqf.org) เพื่อให้หลักสูตรของท่านได้เผยแพร่ และสามารถใช้เป็นต้นแบบให้วิทยาลัยอื่นได้นำไปปรับใช้ได้ โดยสามารถส่งหลักสูตรไปยัง สอศ. เพื่อพิจารณาความสอดคล้องตามเกณฑ์การขึ้นทะเบียนในเบื้องต้น หรือส่งตรงไปที่ สกศ. ได้โดยตรง

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด