สกศ. ปรับโฟกัส สร้างฉากทัศน์การศึกษา ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง มั่นคง ตอบโจทย์อนาคต

image

วันนี้ (๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖) ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประฤเมินผลการจัดการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณากรอบแนวทางการจัดทำฉากทัศน์และแนวโน้มการจัดการศึกษา โดยมี ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) กล่าวรายงาน นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (นายทวีชัย เจริญเศรฐศิลป์) วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รองศาสตราจารย์ ดร. ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา) และนักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา Future Tales Lab by MQDC (นางสาววิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ) พร้อมด้วยข้าราชการ สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สกศ.

.

นางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการจัดการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะองค์กรนำขับเคลื่อนการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ตระหนักว่าผลลัพธ์จากการวิเคราะห์และพยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบาย ทิศทางเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาสำหรับอนาคต การประชุมครั้งนี้จะทำให้บุคลากรของ สกศ. มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถมองภาพอนาคตเกี่ยวกับการศึกษาที่ครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ อีกทั้งยังนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนา และการปฏิบัติงาน อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

 

นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา กล่าวว่า สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สกศ. จัดทำโครงการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์และผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา ประกอบด้วย ๕ ผลผลิต ได้แก่ รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี​ ๒๕๖๖ แผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก รายงานสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี ๒๕๖๖ รายงานสภาวการณ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม และรายงานสภาวการณ์ทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ  การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของประเทศ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับบุคลากร สกศ. เกี่ยวกับการจัดทำฉากทัศน์และการวิเคราะห์แนวโน้มการจัดการศึกษา ให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ต่อไป

.

นายทวีชัย เจริญเศรฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา มองว่า อนาคตเป็นพลวัตและเป็นสิ่งใหม่เสมอ เกิดจากเหตุปัจจัยในปัจจุบันและอดีต เป็นผลจากกฎธรรมชาติที่เป็นระบบระเบียบ มีความไม่แน่นอน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยใช้หลักในการคาดการณ์อนาคต ดังนี้ ๑) หลักต่อเนื่อง คาดการณ์อนาคตจากตัวเอง เหมาะกับสภาพแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ๒) หลักเหตุผล คาดการณ์อนาคตจากปัจจัยเหตุ เหมาะกับเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงแรง ๆ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๓) หลักอุปมาอุปมัย คาดการณ์จากสิ่งที่ดูคล้ายกันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ๔) หลักดุลยภาพ คาดการณ์จากความสมดุล และ ๕) หลักจินตนาการ เครื่องมือที่ใช้ในการคาดการณ์อนาคต ประกอบด้วย เชิงคุณภาพ (Qualitiative) เชิงปริมาณ (Quantitative) การใช้ความคิดเห็น ประสบการณ์ส่วนตัว (Judgmental) และหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based) ซึ่งขั้นตอนในการสร้างฉากทัศน์และการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย ๑) กำหนดประเด็นที่จะศึกษา ๒) คัดเลือกปัจจัยขับเคลื่อนภาพอนาคต ๓) จำแนกปัจจัยขับเคลื่อน (ความไม่แน่นอนและผลกระทบ) ๔) สร้างและอธิบายฉากทัศน์ ๕) วิเคราะห์และประเมินฉากทัศน์ ๖) วางแผน ๗) คาดการณ์ผลลัพธ์จากแผน ๘) ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ในส่วนการศึกษาต้องมีการพยากรณ์แรงงาน อาศัยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ว่าสุดท้ายแล้วภาคการศึกษาควรผลิตคนแบบไหน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึงภาคเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

.

 

รองศาสตราจารย์ ดร. ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การมองอนาคต คือ กระบวนการออกแบบภาพอนาคตอย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ ภายใต้แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น หัวใจสำคัญในการมองอนาคตจึงอยู่ที่การใช้ข้อมูล การคิด และกระบวนการที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ สิ่งสำคัญมากก่อนที่ทำนายแนวโน้มอนาคต ทราบหรือไม่ว่าต้องการให้ประเทศไทยไปในทิศทางใด มีการออกแบบการศึกษาไทย หรืออนาคตประเทศไทยไว้อย่างไร การศึกษาการมองอนาคต มีดังนี้ ๑) มองแผนที่อนาคต เพราะอนาคตคือกระจกสะท้อนปัจจุบัน  ๒) นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นจุดอ่อน ๓) ต้องรู้รากเหง้าของปัญหาว่าคืออะไร ๔) ฉากทัศน์ได้มาต้องทั้งมีฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ ฉากทัศน์ต้องนำมาสู่การตัดสินใจในการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจ แต่ไม่ใช่เป้าหมาย

.

นางสาววิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา Future Tales Lab by MQDC กล่าวว่า Foresight คือ กระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับอนาคต สิ่งสำคัญคือเพื่อจะได้ทำให้รู้ว่าปัจจุบันจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ช่วยให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และจะช่วยให้ออกแบบอนาคตอันพึงประสงค์ได้ กระบวนการต้องใช้ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์โดยใช้งานวิจัยเป็นฐานควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ การจะทำ Foresight ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคเอกชน ควรทำภาพอนาตหลายภาพ และควรมีการปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางในอนาคตให้มีประสิทธิภาพต่อไป

.

ทั้งนี้ สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สกศ. จะนำความรู้ที่ได้จากการประชุมในครั้งไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม และทิศทางการศึกษาในอนาคต

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด