สกศ. ประเดิมเวที จัดตั้งหน่วยงานกลางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เล็งนำร่อง ๔ ภูมิภาค เฟ้นเกณฑ์เทียบโอนคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ ได้มาตรฐาน

image

วันนี้ (๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศึกษาและจัดทำแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานกลางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ดร.ปัทมา วีระวานิช ดร.วณิชย์ อ่วมศรี ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ และ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

.

ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เป็นกลไกที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนรู้และทักษะประสบการณ์ทำงาน การฝึกอบรมอาชีพทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย มารับรองและเทียบโอนกันได้ คณะทำงานชุดนี้จึงเข้ามาส่งเสริมการจัดตั้ง “ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ” มีภารกิจด้านศึกษาและประสานงานกับศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด เพื่อจัดทำคู่มือ เกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการเทียบโอนผลการเรียนรู้ให้เป็นมาตรฐาน ทันสมัย และให้บริการทุกคนอย่างเสมอภาค

.

 

ที่ประชุมร่วมพิจารณา (ร่าง) รูปแบบหน่วยงานกลางเพื่อขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตของไทย โดยมี สกศ. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ร่วมกับคณะกรรมการบริหารหน่วยงานกลางในการประสานเครือข่ายความร่วมมือทั้งศูนย์สะสมหน่วยกิตประจำจังหวัด สถานศึกษาและสถานฝึกอบรมทุกระดับและทุกรูปแบบที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์ และจับมือกับสถานประกอบการเพื่อให้ผู้ใช้ระบบธนาคารหน่วยกิตเป็นกำลังคนที่มีสมรรถนะและได้มาตรฐานเป็นที่การยอมรับจากตลาดแรงงาน โดยคณะทำงาน ฯ เตรียมนำร่องการขับเคลื่อนงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดและศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด ใน ๔ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ - จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ - จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคกลาง – จังหวัดปทุมธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – จังหวัดอุดรธานี

.

อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน ฯ ยังได้หารืออย่างเข้มข้นถึงรูปแบบการใช้ระบบธนาคารหน่วยกิตให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนในระบบซึ่งใช้หลักสูตรและหน่วยการเรียนรู้ที่มีข้อกำหนดชัดเจน (Fixed Model) แม้ว่าสถานศึกษาขั้นพื้นฐานบางแห่งเริ่มมีการเรียนการสอนทั้งแบบหลักสูตรที่ให้คุณวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผสานกับหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรที่ไม่เน้นปริญญา (Non Degree) แล้ว แต่หากไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อการศึกษาของไทยทั้งระบบได้ คณะทำงาน ฯ แบ่งปันมุมมองอย่างรอบด้าน จึงเสนอให้ใช้การนำร่องกับหน่วยงานตามความสมัครใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมาเป็นเกณฑ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเทียบโอนหน่วยกิตและประสบการณ์ทำงาน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์อย่างเท่าเทียมและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจโลกต่อไป

.

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด