อนุสภาการศึกษาด้านวิจัย ฯ เปิด 7 ประเด็น ปรับโฟกัสพัฒนากำลังคนยุคใหม่ให้เรียนรู้ตลอดชีวิตได้จริง

image

วันนี้ (๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา (ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์) ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา (ดร.ช่อบุญ จิรานุภาพ) อนุกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

.

การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีถก (ร่าง) เป้าหมายการพัฒนาคนและการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนสู่การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ตามแผนที่ (Mapping) ความเชื่อมโยงสถานการณ์และแนวทางการขับเคลื่อนปัจจุบันของหน่วยงาน/ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคน สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ สภาพสังคมโลกที่เด็กเกิดน้อยสวนทางกับสังคมสูงวัย ทำให้ประเทศจำเป็นต้องมีระบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่เหมาะกับทุกช่วงวัย และตอบสนองการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างไม่จำกัดอายุ ระดับการศึกษา และสถานะทางเศรษฐกิจ

.

คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอ ๗ ระบบสนับสนุนที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาตลอดชีวิต ดังนี้

๑) มีกฎหมายการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งเป็นมาตรฐานหนึ่งที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แนะนำและหลายประเทศดำเนินการแล้ว โดยอาจสร้างพื้นที่นำร่องในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่นำไปสู่การใช้/ปรับกฎหมาย ให้นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตได้จริง

๒) พัฒนาระบบข้อมูลให้ประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกันได้

๓) มีระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และมีหน่วยงานกลางกำกับมาตรฐานและกติกาให้สามารถเชื่อมโยงกับทุกระบบและทุกประเภท

๔) มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และลดความเหลื่อมล้ำ

๕) มีนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (Learning Space) กระจายในชุมชน/พื้นที่

๖) สร้างแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนอย่างเช่นระบบภาษี

๗) ขจัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

.

นอกจากนี้ที่ประชุมได้แบ่งปันไอเดียการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิตที่น่าสนใจ โดยมองว่า “ระบบการศึกษาแบบใหม่ ต้องไม่ใช่แค่นักเรียนที่เรียนได้” หน่วยการศึกษาจะต้องร่วมกันคิดนอกกรอบและไม่ยึดติดกับหลักสูตรการศึกษา แต่เน้นการพัฒนาประชากรให้มีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย ด้วยการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) ทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คน (Soft Skills) ควบคู่กับการสอนระบบการเงินเพื่ออาชีพ ด้วยเหตุนี้ “ครู” จึงเป็นบุคคลสำคัญที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันสนับสนุนการทำงานให้ครูได้มีทักษะในการโค้ช (Coaching) ที่ดึงศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ท่ามกลางบรรยากาศการสอนที่สนุกและเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ จากนี้ สกศ. จะสรุปประเด็นจากการประชุมเพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) ซึ่งจะประชุมในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เพื่อเสนอความก้าวหน้าก่อนที่ กกส. จะพิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตามกระบวนการต่อไป

.

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด