สกศ.เช็กฟีดแบ็ก Gifted Education ถกขยายผลสภาวกาณ์การศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ

image

วันนี้ (๑๙ มกราคม ๒๕๖๖) สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Education) โดย ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา (นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ) ผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศ อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (ดร.รุ่งเรือง สุขาภิรมย์) นายกสมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพ (รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์) อดีตคณบดีคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (รองศาสตราจารย์อรุณี วิริยะจิตรา) และรองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร.พรชัย อินทร์ฉาย) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ กลุ่ม อาทิ ๑) หน่วยงานระดับนโยบายด้านการศึกษา และด้านสุขภาวะสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ๒) สถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในด้านวิชาการ ด้านดนตรี ศิลปะ และกีฬา และ ๓) หน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาสัมคมที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและแลกข้อมูล ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สกศ.

.

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ในฐานะองค์กรหลักด้านนโยบายและแผนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ อันเป็นกลไกสำคัญในการผลิตเเละพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์และผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมในการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาการของโลกและความจำเป็นของประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ที่รองรับการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงวัย โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของโครงการได้แก่ การจัดทำรายงานสภาวการณ์ทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จำนวน ๕ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ๒) กลุ่มผู้พิการ ๓) กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ๔) กลุ่มผู้ที่มีความเปราะบาง และ ๕) กลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการแข่งขัน สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีการขับเคลื่อนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของประเทศไทยจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายทางการศึกษาของประเทศต่อไป

.

ดร.รุ่งเรือง สุขาภิรมย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษซึ่งปรากฏได้ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านวิชาการ กีฬา ดนตรี ภาษา ศิลปะ ต้องได้รับสิทธิในการพัฒนาความสามารถของตนอย่างเต็มที่ โดยรัฐ ครอบครัว และสังคมควรส่งเสริมและสนับสนุนจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ตั้งแต่โอกาสในเข้าถึงความรู้ (Regional Equity and Accessibility) กระบวนการคัดกรอง การพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการต่อยอดสู่การประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง

.

รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ นายกสมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพ และ รองศาสตราจารย์อรุณี วิริยะจิตรา อดีตคณบดีคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ข้อเสนอแนะและมุมมองแนวการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษส่วนใหญ่ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ ส่วนใหญ่ยังมีการสอนตามหลักสูตรปกติทั่วไปเน้นความเข้มข้นด้านวิชาการที่อาจไม่ได้เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาครูและผู้บริหารให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษาเป็นการเฉพาะ ชี้ถึงการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่อยู่พื้นที่ห่างไกล รวมทั้งด้านการคัดกรองและเสาะแสวงหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษเพื่อให้ได้รับการพัฒนาดึงศักยภาพอย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุยังน้อย

.

ดร.พรชัย อิทร์ฉาย รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ผลสำเร็จของนักเรียนที่เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากมีโครงการ สอวน. เข้ามาช่วยเสริมพัฒนานักเรียน รวมถึงการผลิตครูโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ให้สอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้ ซึ่งทำให้เด็กพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ แต่ไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จชั่วคราว หากต้องมีการสร้างความก้าวหน้าและแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสมสำหรับใช้ความสามารถพิเศษนั้น เพื่อเยาวชนเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต

.

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในแง่มุมที่หลากหลาย โดยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ สถาบันราชานุกูล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

.

ทั้งนี้ สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สำหรับนำไปพิจารณาปรับปรุงรายงานสภาวการณ์ทางการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของประเทศไทย (Gifted Education Situation in Thailand) สู่การจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนของชาติต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด