สกศ. ลงพื้นที่ภาคตะวันออก จัดประชุมเชิงปฎิบัติการเดินหน้ากฎหมายเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

image

วันนี้ วันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษาได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง กฎหมายเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  ณ เฮลท์ แลนด์ รีสอร์ต แอนด์ สปา พัทยาจังหวัดชลบุรี

.

 

นายสุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ
เรื่อง กฎหมายการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แก่ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรทางการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาว่า มีการดำเนินการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนมาถึงปัจจุบันและได้มีการปฏิรูปการศึกษาไปแล้วหลายด้าน ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินการจะสามารถปฏิรูปการศึกษาได้ทั้งระบบ โดยความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้พิจารณาลงมติได้เพียงจำนวน 8 มาตรา สาเหตุเนื่องจากจำนวนองค์ประชุมไม่ครบ โดยกระทรวงศึกษาธิการกำลังรอความชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูงว่าจะให้ดำเนินการต่อไปอย่างไร เนื่องจากมีกฎหมายลำดับรองอีกหลายฉบับที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปการศึกษา
มีความก้าวหน้าต่อไป เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่ต้องดำเนินปรับปรุงแก้ไข จึงได้วางแผนการขับเคลื่อนงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาไว้เป็นกรอบ
3 ประการ คือ 1.การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา โดยเฉพาะการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. 2. การกระจายอำนาจในเรื่องของการวางแผนการศึกษาไปสู่จังหวัด 3. จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์เครดิตแบงก์ระดับประเทศ ทั้งนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การจัดทำแผนการศึกษาระดับจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกควรเป็นแผนการจัดการศึกษาเพื่อการแข่งขัน

.

 

นายโกวิท  คูพะเนียด ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายการศึกษา สป.ศธ. นายสมพงษ์  ผุยสาธรรม   ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สกศ. นายวีระ  พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เกียรติในการอภิปราย เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีการดำเนินการ ดังนี้ อาทิ ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 วรรคสาม โดยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ร่วมมือกัน ระหว่างรัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ มาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา ให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาโดยจัดทำพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งทุนและได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค  และการจัดทำพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 มาแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เพื่อให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

.

             ในช่วงบ่าย นายโกวิท  คูพะเนียด ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายการศึกษา สป.ศธ. นายสมพงษ์  ผุยสาธรรม   ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สกศ. นายวีระ  พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยแสดงความคิดเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นธรรมนูญการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่เป็นอย่างมาก ปรากฎในมาตราสำคัญ อาทิ มาตรา 6 การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคล ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีความรู้และคุณธรรม และเป็นคนดีมีวินัย มาตรา 8 การจัดการศึกษาตามระดับช่วงวัย (ตั้งแต่แรกเกิด - จนจบปริญญาตรี) มาตรา 25 ให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารทั้ง 4 ด้าน มาตรา 32 - มาตรา 39 กำหนดหน้าที่ คุณลักษณะของครู และครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มาตรา 58  ให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้เพื่อพัฒนา และจัดทำต้นแบบหลักสูตร และต้นแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ มาตรา 93 ให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติทำหน้าที่แทนคณะกรรมการสภาการศึกษา เป็นต้น  

.

 

ซึ่งการประชุมดังกล่าวกำหนดไว้ 2 วัน วันที่ 18 มกราคม 2566 จะมีการอภิปรายและรับฟังความคิดเห็น ร่าง พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... โดยมีวิทยากร ได้แก่  ดร.อำนาจ  วิชยานุวัติ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายสมพงษ์  ผุยสาธรรม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สกศ. นายเนติ  รัตนากร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาและวินิจฉัยกฎหมาย สกศ. และนายวีระ  พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นมาเรียนให้ทราบในโอกาสต่อไป

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด