สกศ. ฟอร์มทีมสภาวการณ์การศึกษา ลุยต่อปี ๖๖ อัปขีดความสามารถแข่งขันประเทศไทย

image

วันนี้ (๑๒ มกราคม ๒๕๖๖) ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ร่วมประชุมคณะทำงานวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ โดยนางรุ่งเรือง สุขาภิรมย์ เป็นประธานคณะทำงาน ฯ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงานร่วมแลกเปลี่ยนหารือ ณ ห้องพจน์ สะเพียรชัย ชั้น ๕ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

.

คณะทำงานชุดนี้ดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) ด้านการประเมินผลการจัดการศึกษา มีอำนาจหน้าที่หลักในการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาในระดับประเทศและนานาชาติ จัดทำข้อเสนอแนะ พยากรณ์แนวโน้ม และทิศทางในการพัฒนาการจัดการศึกษา รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวทางการศึกษา โดยดัชนี IMD หรือ ดัชนีของสถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development) เป็นการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการศึกษาที่ใช้ตัวชี้วัดเดียวกันทั่วโลก

.

ในปี ๒๕๖๖ สกศ. เตรียมลุยโครงการ “ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์และผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา เพื่อสร้างนวัตกรรมในการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาการของโลกและความจำเป็นของประเทศ” เพื่อต่อยอดแผนการยกระดับความสามารถการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก รวมถึงรายงานเกี่ยวกับสภาวะการศึกษาไทย สมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล - IMD 2023 และสภาวการณ์ทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ที่ครอบคลุมถึงกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการแข่งขัน เช่น พื้นที่การค้าชายแดน พื้นที่เกาะแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Area - based Education for Competitiveness)

.

ที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา ใน ๓ ประเด็น ได้แก่

๑) ระดับมหภาค เน้นการวิเคราะห์ภาพรวมทางการศึกษาทั้งในระดับนานาชาติ และในระดับชาติ โดยวิเคราะห์ในประเด็น การเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการอาชีวศึกษา และความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศ

๒) ระดับจุลภาค เน้นการวิเคราะห์ประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษาที่สาธารณชนให้ความสำคัญและนโยบายทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา โดยวิเคราะห์ในประเด็น พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา การผลิตและพัฒนาครูที่ตอบสนองกับการจัดการศึกษายุคหลังโควิด-๑๙

๓) เชิงพื้นที่ เน้นการวิเคราะห์นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่

เพื่อได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทและสภาวการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อันจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด